"อนุทิน" ต้อนรับคณะทูตกลุ่มประเทศมุสลิมที่ จ.ยะลา กระชับสัมพันธ์ใกล้ชิด พร้อมแลกเปลี่ยนแนวทางร่วมมือแก้ไขปัญหาพื้นที่ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในชายแดนใต้
เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.67 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทย และโฆษกกระทรวงมหาดไทย (มท.) กล่าวว่า เมื่อช่วงค่ำที่ผ่านมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ร่วมให้การต้อนรับคณะทูตกลุ่มประเทศมุสลิม (The Organization of Islamic Cooperation) 12 ประเทศในกิจกรรมเสริมความเข้าใจและสานสัมพันธ์คณะทูตกลุ่มประเทศมุสลิม ประจำปี 2567 ที่ศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ.สุขยางค์ ต.สะเตง อ.เมืองยะลา จ.ยะลา โดยคณะทูตผู้ร่วมกิจกรรม ประกอบด้วย H.E. Mr. Pengiran Haji Sahari Pengiran Haji Salleh เอกอัครราชทูตบรูไน H.E. Mrs. Hala Youssef Ahmed Ragab เอกอัครราชทูตอียิปต์ H.E. Mr. Nassereddin Heidari เอกอัครราชทูตอิหร่าน Mr. Bong Yik Jui อุปทูต สถานเอกอัครราชทูตมาเลเซีย Ms. Aishath Shiruma Ahmed อุปทูต สถานีอัครทูตมัลดีฟส์ Dr. Mohammed Idris Haidara อุปทูต สถานเอกอัครราชทูตไนจีเรีย Mr. Fuad Adriansyah รองหัวหน้าสำนักงานเอกอัครราชทูตอินโดนีเชีย Mr. Nuriddin Mamatkulov รองหัวหน้าสำนักงานสถานกงสุลใหญ่อุซเบกิสถาน
ทั้งนี้ มีคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยที่เกี่ยวข้อง อาทิ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม น.ส.ธนนนท์ นิรามิษ ภริยารองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นายอำพล พงศ์สุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ว่าที่ร.ต.ตระกูล โทธรรม ผวจ.นราธิวาส ร่วมให้การต้อนรับ
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า การต้อนรับคณะทูตจาก 12 ประเทศ สู่พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ถือว่าได้จัดกิจกรรมในพื้นที่ซึ่งมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและภาษา มีความเชื่อมโยงกับประเทศต่าง ๆ ในคาบสมุทรมลายู และมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ เป็นโอกาสในการแนะนำแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สวยงามของไทย
พร้อมกันนี้ นายอนุทิน และคณะทูตฯ ยังได้หารือเกี่ยวกับความท้าทายที่ต้องอาศัยความร่วมมือและความเข้าใจจากทุกภาคส่วน รวมถึงความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วยการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถอยู่ร่วมกันโดยเคารพในความแตกต่างหลากหลายตามหลักประชาธิปไตย หลักสิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรม ควบคู่การพัฒนาศักยภาพของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาอย่างเต็มที่ นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม การศึกษาอย่างยั่งยืน