สงกรานต์หญิงโดนลวนลามอื้อ 1 ใน 4 กล้าแจ้งความ

2018-04-02 16:40:49

สงกรานต์หญิงโดนลวนลามอื้อ 1 ใน 4 กล้าแจ้งความ

Advertisement

ผู้หญิง 59 % ถูกลวนลามคุกคามทางเพศในช่วงสงกรานต์ มีเพียง 1 ใน 4 ที่กล้าแจ้งความ ภาคประชาชน จี้ กทม. ดูแลเฝ้าระวังกำหนดจุดรับเรื่องร้องเรียนช่วยเหลือในพื้นที่เล่นน้ำทุกแห่ง


เมื่อวันที่ 2 เม.ย. นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พร้อมด้วย กลุ่มเหยื่อผู้หญิงที่ถูกฉวยโอกาส ลวนลาม คุกคามทางเพศช่วงสงกรานต์ปีที่ผ่านมา เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ และภาคประชาชน กว่า 30 คน เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. ผ่านทาง นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าฯกทม. เพื่อเรียกร้องให้ออกมาตรการป้องกันแก้ปัญหาสงกรานต์ไม่ปลอดภัย ไม่สร้างสรรค์ หยุดการฉวยโอกาสคุกคามทางเพศ





นายจะเด็จ กล่าวว่า มูลนิธิฯได้ลงพื้นที่สำรวจทัศนคติผู้หญิงไทยต่อเทศกาลสงกรานต์ปี 2560 ในพื้นที่ก กทม.โดยสำรวจผู้หญิง1,650 ราย อายุระหว่าง10-40ปี พบว่า กลุ่มตัวอย่างเกินครึ่งหรือ ร้อยละ 59.3 เคยถูกฉวยโอกาส ถูกลวนลามคุกคามทางเพศ สำหรับรูปแบบพฤติกรรมการถูกลวนลาม คือ ถูกจับแก้ม ร้อยละ 33.8 เบียดเสียด/จับมือ/จับแขนและใช้สายตาจ้องมองแทะโลม ร้อยละ18.0 ถูกสัมผัสร่างกาย/ล้วงอวัยวะ/อื่นๆ ร้อยละ9.6 ส่วนเหตุการณ์อื่นๆ ที่ทำให้รู้สึกว่าไม่ปลอดภัย เช่น ถูกก่อกวนจากคนเมาสุรา/บังคับให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปัญหาการทะเลาะวิวาท ปัญหาอุบัติเหตุ และที่สำคัญเมื่อถูกลวนลามคุกคามทางเพศ มีเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่เลือกจะแจ้งความดำเนินคดี สำหรับพื้นที่ยอดฮิตที่นิยมไปเล่นน้ำสงกรานต์มากที่สุด คือถนนข้าวสารและสีลม รองลงมาสยามและเซ็ลทรัลเวิลด์ นอกจากนี้ในกลุ่มตัวอย่างที่ไม่เล่นสงกรานต์ให้เหตุผลว่า เพราะเคยถูกแต๊ะอั๋งจึงไม่อยากเล่นสงกรานต์/กลัวถูกฉวยโอกาสลวนลาม ร้อยละ 28.10



นายจะเด็จ กล่าวต้อว่า จากผลสำรวจที่น่าห่วงนี้ บ่งบอกว่าปัญหาการฉวยโอกาสลวนลามคุกคามทางเพศกลายเป็นเรื่องใหญ่ในสังคมไทยที่เราแก้ปัญหาแบบลูบหน้าปะจมูก ทำเป็นมองไม่เห็น เป็นการส่งต่อพฤติกรรมค่านิยมที่ผิดๆ การไม่เคารพในสิทธิเนื้อตัวร่างกายของผู้อื่น และความคิดแบบชายเป็นใหญ่ยังฝังรากลึกในสังคมไทย ทำให้เราเห็นพฤติกรรมการจ้องลวนลาม คุกคามทางเพศ ละเมิดสิทธิผู้อื่นอย่างมากในช่วงเทศกาลสงกรานต์ รวมไปถึงการกล่าวโทษเรื่องการแต่งตัวล่อแหลมเพียงอย่างเดียว ซึ่งแท้จริงแล้วไม่ว่าจะแต่งตัวอย่างไรก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นใบอนุญาตให้คุณคุกคามเขา และสะท้อนถึงปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญ คือ มาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังนั้น กทม.ควรเร่งรณรงค์สร้างกระแสให้การเล่นน้ำสงกรานต์อยู่ในกรอบ เคารพเนื้อตัวร่างกาย ให้เกียรติกัน ไม่ฉวยโอกาสลวนลาม คุกคามทางเพศ และปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยมีข้อเสนอ ดังนี้ 1.ขอให้รณรงค์และประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนในพื้นที่เล่นน้ำใน กทม. ให้รับรู้ว่าการคุกคามทางเพศเป็นเรื่องผิดกฎหมาย และขอให้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันเป็นเครือขายเฝ้าระวังให้ความช่วยเหลือผู้ประสบปัญหา โดยกำหนดจุดรับเรื่องร้องเรียนช่วยเหลือในพื้นที่เล่นน้ำทุกแห่ง 2.ขอให้เฝ้าระวัง กำกับและติดตามการทำผิดกฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551



ด้านนายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า กทม.เตรียมพร้อมคุมเข้มพื้นที่เล่นน้ำให้ปลอดภัยมาต่อเนื่องทุกปี เพื่อลดปัญหาการลวนลามคุกคามทางเพศและปัญหาที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เน้นเฝ้าระวังการทำผิดกฎหมาย และปีนี้เราเน้นสืบสานการแต่งกายประเพณีไทย และคงต้องเฝ้าระวังตามพื้นที่ยอดนิยมของคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น ถนนข้าวสาร สีลม เอเชียทีค