ศึกษาเผย "อาหารเด็ก" กว่า 1 ใน 3 ของฟิลิปปินส์มีน้ำตาลสูง

2024-05-27 10:20:05

ศึกษาเผย "อาหารเด็ก" กว่า 1 ใน 3 ของฟิลิปปินส์มีน้ำตาลสูง

Advertisement

มะนิลา, 24 พ.ค. (ซินหัว) — เมื่อวันพฤหัสบดี (23 พ.ค.) การศึกษาจากองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ (UNICEF) และพันธมิตรของกลุ่มความร่วมมือเพื่อการปรับปรุงอาหารเสริมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (COMMIT) เผยว่าจำนวนเด็กที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ในฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้นสามเท่านับตั้งแต่ปี 2003 เนื่องจากอาหารเด็กมีน้ำตาลสูง

การศึกษาพบว่ากว่าหนึ่งในสามของอาหารสำเร็จรูปสำหรับเด็กอายุ 6 เดือนถึง 3 ปีในฟิลิปปินส์ มีการใส่น้ำตาลเติมแต่ง (added sugars) และสารให้ความหวาน และยังพบการใช้ฉลากที่อาจสร้างความเข้าใจผิดและหลอกลวงจำนวนมาก รวมถึงการขาดข้อบังคับเข้มงวดของรัฐบาลเกี่ยวกับส่วนประกอบและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์

สิ่งนี้เกิดขึ้นในขณะที่ฟิลิปปินส์พบจำนวนเด็กที่มีน้ำหนักเกณฑ์เพิ่มขึ้นสามเท่าตั้งแต่ปี 2003 ซึ่งจัดอยู่ในระดับสูงตามมาตรฐานโลก โดยการศึกษายังได้ประเมินซีเรียล ซุปข้น ของขบเคี้ยว และอาหารพร้อมรับประทาน 182 รายการที่มุ่งจำหน่ายสำหรับทารกและเด็กเล็กในฟิลิปปินส์ โดยผลิตภัณฑ์ซีเรียลแบบแห้งและสำเร็จรูปเกือบทั้งหมดมีการเสริมสารอาหาร แต่ส่วนใหญ่มักไม่ตรงตามมาตรฐานที่แนะนำ

ฉลากสินค้าที่ไม่มีภาษาฟิลิปปินส์ทำให้ผู้ปกครองและผู้ดูแลทำความเข้าใจและตีความข้อมูลบนฉลากได้ยาก ขณะที่ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ดีต่อสุขภาพถูกวางจำหน่ายและส่งเสริมว่าเหมาะสำหรับเด็กเล็ก โดยหนึ่งในสี่ของผลิตภัณฑ์อาหารไม่ระบุอายุขั้นต่ำที่แนะนำให้บริโภคซึ่งอยู่ที่อย่างน้อย 6 เดือน และมีฉลากผลิตภัณฑ์เพียงร้อยละ 2 ที่ระบุข้อความเกี่ยวกับความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่อง

อาหารเสริมเชิงพาณิชย์เป็นหนึ่งในอาหารสำหรับเด็กที่พบได้ทั่วไปในฟิลิปปินส์ โดยคุณแม่ร้อยละ 83 จากพื้นที่ในเมืองเผยว่าตนเองให้ลูกรับประทานอาหารประเภทนี้ทุกวัน

การศึกษาเรียกร้องหน่วยงานรัฐบาลปรับปรุงข้อบังคับเกี่ยวกับอาหารเสริมดังกล่าว อาทิ สั่งห้ามใส่น้ำตาลเติมแต่งและสารให้ความหวาน จำกัดปริมาณน้ำตาลและโซเดียม และสั่งห้ามทำการตลาดและติดฉลากที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด อีกทั้งย้ำความจำเป็นในการตรวจสอบและบังคับใช้ข้อบังคับอย่างเข้มงวดขึ้น รวมถึงการเพิ่มการสนับสนุนให้ผู้ปกครองสามารถจัดเตรียมอาหารที่หลากหลายและมีคุณค่าทางโภชนาการให้แก่เด็กอายุน้อย ด้วยการทำให้พวกเขาเข้าถึงอาหารดีต่อสุขภาพในราคาย่อมเยา

โอยุนไซคาน เดนเดฟโนรอฟ ตัวแทนองค์การยูนิเซฟประจำฟิลิปปินส์ กล่าวว่าหากไม่มีการแก้ไขและบังคับใช้ข้อบังคับด้านอาหารเพื่อคุ้มครองเด็ก พวกเขาอาจบริโภคอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น ซึ่งมีปริมาณน้ำตาลและสารให้ความหวานสูงและทำร้ายสุขภาพฟัน แทนที่จะได้รับสารอาหารที่จำเป็น และอาจทำให้เด็กๆ ชื่นชอบอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพตอนโตขึ้น จนนำไปสู่โรคอ้วนและกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ โรคเบาหวานและโรคหัวใจ

แม้การศึกษาดังกล่าวจะไม่ได้ระบุจำนวนเด็กที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ ทว่าผลสำรวจที่ดำเนินโดยฝ่ายเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ สังกัดสถาบันวิจัยอาหารและโภชนาการของฟิลิปปินส์ในปี 2019 รายงานว่าเด็กเกือบ 1 ใน 10 คนที่มีอายุ 5-10 ปี และ 10-19 ปี ตามลำดับ ถูกจัดว่ามีน้ำหนักเกินเกณฑ์