เริ่มแล้วเทศกาลวิสาขปุณณมีปูชา (มีคลิป)

2024-05-23 12:02:53

เริ่มแล้วเทศกาลวิสาขปุณณมีปูชา (มีคลิป)

Advertisement

เริ่มแล้วเทศกาลวิสาขปุณณมีปูชา ประจำปี 2567  จัดเต็มขบวนแห่น้ำศักดิ์สิทธิ์ เครื่องสักการะ  รำบูชาพระธาตุยาคู  

เมื่อวันที่ 23 พ.ค.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  ที่โบราณสถานเมืองฟ้าแดดสงยาง พระธาตุยาคู ต.หนองแปน อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ มีพิธีเปิดงานเทศกาล วิสาขปุณณมีปูชา ประจำปี 2567 ซึ่งสำนักงานวัฒนธรรม จ.กาฬสินธุ์ร่วมกับหน่วยงานราชการทุกภาคส่วน อำเภอทั้ง 18 อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนจัดขึ้น เพื่อพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเมืองโบราณฟ้าแดดสงยาง ส่งเสริมเทศกาลงานประเพณี สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น กระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้แก่ชุมชน และสร้างความร่วมมือส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมระหว่าง จ.กาฬสินธุ์และจังหวัดใกล้เคียงได้ร่วมอนุรักษ์ไว้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม โดยมีนายธวัชชัย รอดงาม นายธนภัทร ณ ระนอง นายรุจติศักดิ์ รังษี รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ นายผดุงศักดิ์ อิ่มเอิบ ปลัด จ.กาฬสินธุ์ นางศิรดา มะลาสาย วัฒนธรรม จ.กาฬสินธุ์ นายทินพล ศรีธเรศ ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 5 นางเฉลิมขวัญ หล่อตระกูล นายกอบจ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ประชาชน และนักท่องเที่ยวร่วมงานจำนวนมาก


ทั้งนี้ในช่วงพิธีเปิดเต็มไปด้วยความยิ่งใหญ่ และตระการตา ซึ่งผู้มาร่วมต่างพร้อมใจกันงานสวมชุดผ้าพื้นเมือง จัดขบวนแห่น้ำศักดิ์สิทธิ์ เครื่องสักการะพระธาตุยาคู หรือขันหมากเบ็งและพานบายศรี 3 ชั้น มีขบวนนางฟ้าทวาราวดี และนางรำหลายร้อยคนโปรยดอกไม้ ตั้งแต่ประตูซุ้มทางเข้าเมืองจนถึงพระธาตุยาคู จากนั้นมีพิธีเชิญน้ำสรงพระราชทาน และเครื่องสักการะ เพื่อถวายสรงน้ำพระธาตุยาคู นอกจากนี้ยังมีนางรำ 2,772 คน ร่วมกันรำบูชาพระธาตุยาคูด้วยความสวยงามอีกด้วย


สำหรับงานเทศกาลวิสาขปุณณมีปูชา กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 – 26 พ.ค.67 ที่โบราณสถานเมืองฟ้าแดดสงยาง พระธาตุยาคู ต.หนองแปน อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งตลอดช่วงระยะเวลาการจัดงาน 5 วัน 5 คืน ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่มาร่วมงานจะได้ชมกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย เช่น การฟ้อนสมมาบูชาพระธาตุยาคู เช็คอินทะเลธุง 665 ต้น และอุโมงค์ธุง สาธิตการทำธุง การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของชุมชนจาก 18 อำเภอ สัมผัสและชมในเฮือนโบราณย้อนยุค ตลาดนัดโบราณทวารวดีของดีบ้านฉัน และผลิตภัณฑ์ชุมชนของดีเฮือนอีสานย้อนยุค ซึ่งหาชมได้ยากในปัจจุบัน