ภาวะเข่าบวมน้ำ

2024-05-16 11:53:51

ภาวะเข่าบวมน้ำ

Advertisement

ภาวะเข่าบวมน้ำ

หัวเข่า เป็นข้อต่อที่สำคัญระหว่างกระดูกต้นขาและกระดูกหน้าแข้ง มีหน้าที่สำคัญ คือ ทำให้เราสามารถขยับงอหรือเหยียดขา ทำกิจวัตรประจำวัน เช่น นั่ง เดิน และวิ่งได้อย่างปกติ หากข้อเข่ามีความผิดปกติ อาจส่งผลให้หลายคนเกิดอาการ เข่าบวม เจ็บเวลางอหรือเหยียดข้อเข่า เดินลงน้ำหนักไม่ค่อยไหว ซึ่งเป็นอาการสำคัญของ ภาวะเข่าบวมน้ำ

ภาวะเข่าบวมน้ำ เป็นความผิดปกติของน้ำในข้อเข่าที่ส่งผลให้อวัยวะภายในของข้อเข่าเกิดการอักเสบ จากอุบัติเหตุที่กระทบกระแทกกับข้อเข่าโดยตรงหรือโรคบางชนิดที่ทำให้เกิดความระคายเคือง รวมไปถึงความเสื่อมของร่างกายที่ส่งผลให้เยื่อหุ้มข้อสร้างน้ำข้อเข่ามากเกินไปและสะสมอยู่ในข้อเข่า

สาเหตุ

-การบาดเจ็บของโครงสร้างในข้อเข่าจากอุบัติเหตุ เช่น หมอนรองกระดูกเข่า เส้นเอ็น หรือเนื้อเยื่อในข้อเข่า อาจเกิดจากการหกล้ม ตกจากที่สูง หรือการเล่นกีฬา

-ผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม

-มีการติดเชื้อภายในข้อเข่า

-โรคบางชนิด เช่น โรคเกาต์ โรครูมาตอยด์ หรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง

-การใช้งานข้อเข่า ที่มากเกินไป

-สาเหตุอื่น ๆ ที่พบได้น้อย เช่น โรคกระดูกข้อเข่าขาดเลือด เนื้องอกกระดูก

อาการภาวะเข่าบวมน้ำ

-ปวดหรือเจ็บข้อเข่าตลอดเวลา หรือเจ็บมากขึ้นเวลางอ-เหยียดข้อเข่า

-ปวดหัวเข่าเวลาขึ้นหรือลงบันได

-หน้าเข่าหรือรอบข้อเข่าบวมแดง

-ปวดหัวเข่าจนส่งผลกระทบต่อการนอน

-ผิวหนังบริเวณข้อเข่าร้อนกว่าอีกข้าง

-อาจรู้สึกเหมือนมีไข้ต่ำ ๆ

-ไม่สามารถยืดเข่า งอเข่า หรือเหยียดขาให้ตรงได้

การตรวจวินิจฉัย

ซักประวัติเบื้องต้น ขั้นตอนแรกก่อนที่แพทย์จะดำเนินการวินิจฉัยโรคเพื่อตรวจหาสาเหตุ เช่น การกระแทก อุบัติเหตุ เข่าเคยได้รับการบาดเจ็บ ประวัติโรคประจำตัว และอาการที่อาจเกิดร่วมต่าง ๆ เพื่อนำไปประกอบการวินิจฉัยโรค

ตรวจสภาพข้อเข่า แพทย์จะตรวจสภาพข้อเข่าด้วยการตรวจอาการบวมน้ำ การขยับ และความมั่นคงของข้อเข่า ในบางกรณีอาจมีการส่งตรวจวินิจฉัยทางรังสีวิทยาเพิ่ม ได้แก่ ภาพเอกซเรย์ เพื่อตรวจสอบพยาธิสภาพข้อเข่าที่อาจเป็นสาเหตุของข้อเข่าบวมน้ำ เช่น กระดูกบาดเจ็บ ข้อเข่าเสื่อม ข้อเข่าผิดรูป หรือรอยโรคผิดปกติในเนื้อกระดูก

อัลตราซาวนด์ ใช้ตรวจการอักเสบบวมน้ำของข้อเข่า การบวมของเนื้อเยื่ออ่อนรอบหัวเข่า และช่วยวินิจฉัยโรคเนื้องอกต่าง ๆ ของชั้นเนื้อเยื่ออ่อนบริเวณข้อเข่า

เอ็มอาร์ไอ การตรวจด้วยเครื่องมือที่สร้างภาพเสมือนจริงออกมาด้วยสนามแม่เหล็กและคลื่นวิทยุ ซึ่งจะทำให้เห็นความผิดปกติได้ชัดเจนทั้งเส้นเอ็นฉีกขาด รอยร้าวตามกระดูกและข้อ รวมไปถึงสามารถบอกปริมาณน้ำในข้อเข่าได้ นอกจากนี้สามารถวินิจฉัยโรคข้อเข่าที่เกิดจากความผิดปกติอื่น ๆ เช่น โรคเนื้องอกของกระดูกและเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน โรคกระดูกขาดเลือด

เจาะข้อ เป็นการเจาะข้อเข่าเพื่อนำน้ำในข้อเข่าไปตรวจวิเคราะห์หาสาเหตุของภาวะเข่าบวมน้ำ ซึ่งวิธีการนี้สามารถวินิจฉัยแยกโรคที่สำคัญ เช่น โรคข้อเข่าติดเชื้อ โรคเกาต์แท้ โรคเกาต์เทียม และข้อเข่าบวมจากอุบัติเหตุ

วิธีการรักษาภาวะเข่าบวมน้ำ

ภาวะเข่าบวมน้ำเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุทำให้แพทย์ต้องทำการวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัดก่อนทำการรักษา เช่น หากเกิดจากอุบัติเหตุแพทย์จะส่งเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อตรวจสอบการฉีกขาดของเส้นเอ็นภายในข้อเข่าและรักษาตามอาการบาดเจ็บ หากเป็นการติดเชื้อของข้อเข่า

แพทย์จะทำการผ่าตัดล้างข้อเข่าเพื่อลดการติดเชื้อร่วมกับการให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ หากเกิดจากโรคเดิมของผู้ป่วย เช่น โรคเกาต์แท้หรือโรคเกาต์เทียม แพทย์จะรักษาด้วยการให้ยา หากอาการไม่ดีขึ้นแพทย์จะฉีดยาเพื่อลดการอักเสบเข้าไปในข้อเข่า

วิธีป้องกัน

-ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ด้วยการวิ่ง เดินเร็ว หรือขี่จักรยาน

-ดูแลรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

-นั่งยกเข่า แกว่งเข่า

-หลีกเลี่ยงการยกของหนัก

-ผู้ที่มีโรคข้อเข่าควรปฏิบัติตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด

ภาวะเข่าบวมน้ำ สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย หากมีอาการหัว เข่าบวม ปวดเข่า ไม่สามารถยืด หรือ งอเข่าได้ ผู้ป่วยควรเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ และเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง

ผศ.นพ.กุลพัชร จุลสําลี

ศัลยกรรมกระดูกและข้อ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์

คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล