"วราวุธ"ปาฐกถาชูนโยบาย 5 × 5 ฝ่าวิกฤตประชากร ร่วมปลดล็อกกับดัก วอนคนรุ่นใหม่ร่วมมือกันสร้างโลกให้มั่นคง ยั่งยืน น่าอยู่
เมื่อวันที่ 15 พ.ค.67 ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวปาฐกถาพิเศษในเวทีเสวนาเปิดตัวรายงาน “ปลดล็อกกับดัก: ความร่วมมือในมุมมองใหม่ในโลกที่แบ่งขั้ว” รายงานการพัฒนามนุษย์ปี 2566-2567 ฉบับล่าสุดของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำประเทศไทย โดยมี นายเรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำประเทศไทย กล่าวเปิด และ ผศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวต้อนรับ และมีนายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวง พม. และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม
นายวราวุธ กล่าวว่า วันนี้รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาพูดคุยถึงรายงานความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งเป็นโอกาสพิเศษ ทำให้เราได้มาทบทวนกันว่าทำอย่างไร จึงจะอยู่กับโลกที่ดีขึ้น และได้รับรู้เรื่องแนวทางการแก้ปัญหาต่างๆ ซึ่งเราได้มองหาหนทางที่จะเป็นไปได้ที่จะลงมือกัน ในประเทศไทยและเอเชียแปซิฟิกนับเป็นอีก Chapter หนึ่งของการพัฒนา UNDP ซึ่งมีการหารือกันตั้งแต่ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยตนได้พูดคุยกับผู้แทนประเทศสมาชิกต่างๆ ที่ร่วมแชร์มุมมองต่างๆ ว่าจะมีวิถีในการเดินหน้าอย่างไร ซึ่งถือว่าเป็นการประชุม ครั้งที่ 30 ในการที่เราจะได้ร่วมพูดคุยถึงการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ และเราจะมีวิธีการพัฒนาอย่างไรถึงจะทำให้โลกของเราน่าอยู่มากขึ้น เพราะว่าวันนี้เราอยู่ในโลกที่มีประชากรศาสตร์ที่เปลี่ยนไป ซึ่งประชากรในประเทศเพิ่มขึ้นและเสียชีวิตน้อยลง และได้มีการคาดการณ์กันไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นสองเท่าในปี 2050 จึงจะเป็นวิกฤติประชากรโลก ดังนั้นการที่มีประชากรล้น การย้ายถิ่นฐาน มีการเชื่อมต่อกันผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งมีความท้าทายหลายอย่างที่เราจะต้องมอง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และเรื่องของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เราต้องมองถึงกฎระเบียบต่างๆ ที่เราต้องใช้
นายวราวุธ กล่าวต่อว่า ตอนนี้ได้มีการเปลี่ยนผ่านในเรื่องประชากรศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น และสังคมเราได้เริ่มเข้าสู่ในสังคมสูงวัย ซึ่งในอีก 20 ปีข้างหน้า หรืออาจจะเร็วกว่านั้น ประชากรในวัยแรงงานจะลดน้อยลง มีคนเกิดน้อยลง ดังนั้นสังคมไทยตอนนี้มีผู้สูงอายุจำนวนมาก เพราะฉะนั้นถ้าเรามาดูดัชนีการพัฒนาของมนุษย์ มีประมาณร้อยละ 0.03 ซึ่งถือว่าประเทศไทยมีดัชนีที่สูงขึ้นจาก 93 ประเทศที่ได้สำรวจ มีจำนวนประชากรผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย แต่ถ้าเราดูจะพบว่ามีจำนวนเพศหญิงเข้าถึงการศึกษาน้อยกว่าเพศชาย การแบ่งแยกความไม่เท่าเทียมของโลกจึงเป็นสิ่งสำคัญ และจำเป็นจะต้องพัฒนา โดย พม. ร่วมมือกับทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และธนาคารโลก ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ภายใต้หัวข้อ “การพัฒนาความมั่นคงครอบครัวไทย ผ่านพ้นภัยวิกฤตประชากร” เมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา และมีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ โดยมีผู้บริหารระดับสูงจากหลายหน่วยงานของภาครัฐ NGOs กลุ่มเปราะบาง รวมถึงองค์กรต่างๆ มาร่วมพูดคุยให้ข้อเสนอแนะ
นายวราวุธ กล่าวอีกว่า ในส่วนของยุทธศาสตร์ของประเทศ เราต้องมองในเรื่องการพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ โดยกระทรวง พม. ได้จัด 5 นโยบายสำคัญ ที่เรียกว่า 5 × 5 ฝ่าวิกฤตประชากร ได้แก่ นโยบายที่หนึ่ง การพัฒนาทักษะและเสริมศักยภาพ (Reskill/Upskill) เพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งเสริมการมีงานทำและรายได้ นโยบายที่สอง การดูแลเรื่องของเด็กและเยาวชน ส่งเสริมสถาบันครอบครัวและสถาบันการศึกษาให้เข้มแข็ง นโยบายที่สาม การให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงศักยภาพการทำงานมากขึ้นและต่อเนื่อง นโยบายที่สี่ การสนับสนุนและเพิ่มโอกาสทางการศึกษาสำหรับคนพิการตามศักยภาพและเพิ่มการจ้างงานคนพิการในทุกภาคส่วน และนโยบายที่ห้า เรื่องระบบนิเวศและสภาพแวดล้อม สำหรับคนรุ่นต่อไป นโยบาย 5 × 5 ฝ่าวิกฤติประชากร ทางคณะรัฐมนตรี ได้มองเห็นและพูดคุยกันใน ครม. ว่านโยบาย 5 × 5 มีความสำคัญอย่างมาก และจะเป็นวิธีที่ช่วยแก้วิกฤติประชากรไม่ใช่แค่ในประเทศ แต่รวมถึงระดับนานาชาติ ในฐานะที่ตนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตนเชื่อว่าการแก้ปัญหาวิกฤติประชากรประสบความสำเร็จ ถ้าเราได้ลองดูในเรื่องดัชนีชี้วัดต่างๆ เรื่องรายได้ต่อหัวของประชากร ตนเชื่อว่าการพัฒนามนุษย์ก็คือการพัฒนาความเป็นมนุษย์และพัฒนาว่า จะอยู่กันอย่างไร รวมถึงการพัฒนาสิ่งแวดล้อมเพื่อไม่ให้คนรุ่นนี้ไปเอาเปรียบกับรุ่นต่อไปหรือคนรุ่นใด
นายวราวุธ กล่าวว่า เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับมุมมองปรับองคาพยพทั้งหลายในด้านความคิดและความรู้ และอยากจะเน้นย้ำอีกครั้งว่า ธรรมชาติไม่ต้องการเรา แต่เรายังต้องพึ่งพาอาศัยธรรมชาติ ดังนั้นเราจะไม่มีสุขภาพที่ดีได้ ถ้าโลกของเราไม่มีสุขภาพที่ดี มนุษย์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของโลก แต่ว่าเราจำเป็นจะต้องสร้างโลกให้มีความแข็งแรงขึ้นเพื่อความยั่งยืน และเป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงต่อไปไม่ได้ เราจะต้องร่วมมือกันช่วยพัฒนาไม่ว่าจะเป็นในส่วนไหน ดังนั้นความท้าทายคือการร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นในส่วนลูกหลาน เราต้องคิดทบทวนกันใหม่ว่าจะทำอย่างไรให้ชีวิตดีขึ้น เพื่อร่วมมือกันสร้างโลกนี้ให้ยั่งยืนและน่าอยู่มากขึ้นในคนรุ่นต่อไป ซึ่งไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้ ถ้าเราร่วมมือกันฝ่าทางตัน ปลดล็อคกับดักไปด้วยกัน