จันทบุรี, 14 พ.ค. (ซินหัว) -- ภาพคนงานปีนต้นทุเรียนใช้มีดตัดผลผลิตบนยอดสูงชะลูด ก่อนโยนให้เพื่อนคนงานที่รอรับใต้ต้นอย่างชำนิชำนาญด้วยถุงกระสอบ ส่งสัญญาณการเริ่มต้นฤดูเก็บเกี่ยวทุเรียนในจังหวัดจันทบุรี ซึ่งถือเป็นแหล่งเพาะปลูกทุเรียนแห่งสำคัญของไทย
ศศิธร เจ้าของสวนทุเรียนมากกว่า 2,000 ต้น ผู้ทำธุรกิจซื้อขายทุเรียนมานานกว่า 10 ปี เล่าว่าเธอจ้างคนงานตัดผลผลิตทุกวันมากกว่า 40 คนในฤดูเก็บเกี่ยวทุเรียนปีนี้ โดยผลผลิตของปีนี้ลดลงเพราะภัยแล้ง สวนทางกับความต้องการทุเรียนของตลาดจีนที่ยังคงสูง
"เราส่งออกทุเรียนหลายสายพันธุ์ ทั้งพันธุ์กระดุมที่สุกพร้อมเก็บเกี่ยวก่อนหน้านี้และพันธุ์หมอนทองที่ชาวจีนนิยม" ศศิธรกล่าว โดยทุเรียนจากสวนของศศิธรถูกขนส่งสู่โรงงานแปรรูปใกล้เคียงอย่างรวดเร็ว เพื่อคัดเลือก ชั่งน้ำหนัก บรรจุหีบห่อ และเคลื่อนย้ายสู่สายส่ง
วีระชัย ผู้จัดการโรงงานแปรรูปทุเรียน บอกกับสำนักข่าวซินหัวว่าจีนเป็นตลาดสำคัญมาก โดยปีนี้ส่งออกทุเรียน 23 ตู้คอนเทนเนอร์แล้ว ส่วนใหญ่ส่งออก 3 ทาง แบ่งเป็นทางอากาศร้อยละ 20 ทางทะเลร้อยละ 40 และทางบกร้อยละ 40
อนึ่ง ไทยเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกทุเรียนรายใหญ่ของโลก โดยข้อมูลจากสำนักบริหารศุลกากรทั่วไปของจีนระบุว่าจีนนำเข้าทุเรียนสดในปี 2023 รวม 1.426 ล้านตัน ซึ่งเป็นทุเรียนสดจากไทย 929,000 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 65.15 การนำเข้าทุเรียนสดทั้งหมดของจีน
ก่อนหน้านี้ผลไม้เมืองร้อนที่ผลิตในกลุ่มประเทศอาเซียนมักเข้าสู่ตลาดจีนได้ยาก เนื่องจากมีอายุการเก็บรักษาที่สั้น กอปรกับข้อจำกัดด้านการขนส่งและคลังสินค้า ทว่าปัจจุบันทุเรียนและผลไม้อื่นๆ จากอาเซียนสามารถถูกขนส่งสู่ตลาดจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพและสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
ความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกข้างต้นเป็นผลจากการเสริมสร้างเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน การบังคับใช้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ตลอดจนโครงการเชื่อมต่อจำนวนมาก เช่น ระเบียงการค้าทางบก-ทางทะเลใหม่ (สายตะวันตก) และการพัฒนาอันรวดเร็วของระบบโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็นและอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน
ขณะด่านโหย่วอี้หรือด่านมิตรภาพในเมืองผิงเสียง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน ซึ่งมีพรมแดนติดกับเวียดนาม ได้รับรองการนำเข้าทุเรียนไทยในปี 2023 รวม 282,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 162.4 เมื่อเทียบปีต่อปี และรับรองการนำเข้าทุเรียนสดในไตรมาสแรก (มกราคม-มีนาคม) ของปีนี้ ราว 48,000 ตัน ซึ่งเป็นทุเรียนสดจากไทย 13,000 ตัน
การนำเข้าและส่งออกที่เฟื่องฟูนี้เป็นผลประโยชน์จากนโยบายปลอดภาษีศุลกากรและการเพิ่มประสิทธิภาพพิธีการศุลกากร โดยหวงเฟยเฟย เจ้าหน้าที่ศุลกากรด่านโหย่วอี้ เผยว่ามีการอัปเกรดจุดกำกับดูแลอัจฉริยะอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมการสร้างช่องทางพิเศษสำหรับทุเรียนนำเข้า และดำเนินมาตรการเกื้อหนุนพิธีการศุลกากร เช่น ช่องทางด่วนสำหรับผลไม้นำเข้า
ส่วนตลาดไห่จี๋ซิงในนครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน ซึ่งเป็นตลาดค้าส่งผลไม้ขนาดใหญ่ที่สุดในกว่างซี ได้รับรองการนำเข้าทุเรียนสดจากไทยเช่นกัน โดยโม่เจียหมิง พ่อค้าคนหนึ่ง นำเข้าทุเรียนจากไทยราว 50 ตันทุกวัน และจัดจำหน่ายสู่ตลาดในประเทศผ่านหลายช่องทาง เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ ร้านค้าปลีก และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ
โม่เล่าว่าปีนี้นำเข้าทุเรียนราว 1,800 ตันแล้ว โดยทุเรียนจากไทยถูกขนส่งมาป้อนตลาดจีนได้เร็วขึ้นภายใน 3-5 วัน เนื่องด้วยอานิสงส์จากการอำนวยความสะดวกด้านพิธีการศุลกากรและเทคโนโลยีการเก็บรักษาแบบห่วงโซ่ความเย็น รวมถึงมีวิธีการขนส่งให้เลือกเพิ่มขึ้น ทั้งทางบก ทางทะเล ทางอากาศ และทางราง
ทั้งนี้ โม่ที่ทำธุรกิจนำเข้าทุเรียนมานาน 6 ปีแล้ว เชื่อว่าตลาดทุเรียนของจีนยังคงมีศักยภาพมหาศาล โดยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าจีน-อาเซียนที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น บวกกับนโยบายและมาตรการเกื้อหนุนต่างๆ จะช่วยฟื้นฟูและพัฒนาตลาดผู้บริโภค ทำให้ทุเรียนและผลไม้อื่นๆ จากอาเซียนคว้าโอกาสจากตลาดจีนเพิ่มขึ้นในอนาคต