คกก.ไตรภาคีถก 14 พ.ค. ผู้ประกอบการค้านขึ้นค่าจ้าง 400 พร้อมกันทั่วประเทศ

2024-05-13 15:44:20

คกก.ไตรภาคีถก 14 พ.ค. ผู้ประกอบการค้านขึ้นค่าจ้าง 400 พร้อมกันทั่วประเทศ

Advertisement

ปลัดกระทรวงแรงานเผย คกก.ไตรภาคีจ่อหารือ 14 พ.ค. หลังสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ค้านขึ้นค่าจ้าง 400 พร้อมกันทั่วประเทศ

เมื่อเวลา 10.00 น.  วันที่ 13 พ.ค.67 ที่ ห้องประชุมประสงค์ รณะนันทน์ ชั้น 5  กระทรวงแรงงาน  นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ร่วมการประชุมหารือผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยมี นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน เป็นประธานการประชุม นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน นายนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน นายสมาสภ์ ปัทมะสุคนธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมหารือ  สำหรับการประชุมวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังผลกระทบการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน รับฟังความต้องการการช่วยเหลือจากผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ นำมากำหนดเป็นมาตรการช่วยเหลือ และนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง เสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป  จากมติดังกล่าวฟังแล้วก็ดีใจแทนลูกจ้าง   ขอย้ำว่าการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งที่ 3 ในวันที่ 1 ต.ค. 67 แน่นอน ต้องมาโฟกัสบางกิจการ 

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณหลังการหารือร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่ยื่นหนังสือคัดค้านการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ ว่า จากการหารือ ผู้แทนแต่ละท่านเห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท แต่ไม่เห็นด้วยให้ขึ้นทั้งประเทศพร้อมกัน เพราะบางกิจการจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจนทำให้ธุรกิจมีปัญหาได้ อย่างเอสเอ็มอี ร้านขายของชำต่างๆ จึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบในคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ หรือ ไตรภาคี ในวันที่ 14 พ.ค.67  โดยจะโฟกัสเป็นบางประเภทกิจการ และจะให้ทางอนุกรรมการจังหวัดไปพิจารณากรอบแนวทางการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของแต่ละจังหวัด เพื่อนำเข้าสู่คณะกรรมการชุดใหญ่เพื่อพิจารณาต่อไป จากมติดังกล่าวตนฟังแล้วก็ดีใจแทนลูกจ้าง 

ดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ สภาหอการค้า กล่าวว่า เรายินดีที่ให้รัฐบาลยกระดับรายได้แรงงาน แต่ขอให้ฟังหลายๆ ฝ่าย เพราะถ้าขึ้น 400 บาท ทั้งประเทศจะกระทบกับหลายกิจการ เช่น ตลาดสด เอสเอ็มอี แรงงานภาคเกษตร ซึ่งใช้แรงงานเป็น 10 ล้านคน ควรให้เวลาเขาปรับตัว ใครพร้อมก็ค่อยๆ ปรับ และวันนี้ ที่คุยกับปลัดกระทรวงแรงงาน ก็ยังต้องคุยกันอีกหลายครั้ง ซึ่งหากถามผู้ประกอบการหากขึ้น 400 บาท ทั้งประเทศ กว่า 80% จะอยู่ไม่ได้ คนที่กระทบหนักจริงคือชาวบ้าน พ่อค้า แม่ค้า ก่อสร้าง ค้าปลีก ค้าส่ง เป็นต้น นี่เป็นครั้งแรกที่หอการค้าทั้ง 76 จังหวัด สมาคมการค้า 92 สมาคม เป็นเจ้าของโรงงาน และผู้ประกอบการรายย่อยกว่า 1.5 หมื่นแห่ง ยื่นค้านพร้อมกัน  

นายสุชาติ จันทรานคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในปีนี้ปรากฏว่ามีการปรับค่าจ้างแล้วครั้งแรกในวันที่ 1 ม.ค. 67 ครั้งที่ 2 ปรับวันที่ 13 เม.ย. ผ่านมา แล้วจะมาปรับอีกเป็นครั้งที่ 3 ในเดือน ต.ค. ซึ่งตนคิดว่า เป็นการปรับค่าจ้างที่ไม่สมเหตุผล ตามดัชนีชี้วัด แต่เราก็ให้ความร่วมมือในการหารือว่าจะทำอย่างไรให้มีการปรับค่าจ้างมีความเป็นธรรมทั้งต่อฝ่ายลูกจ้าง และนายจ้างต้องอยู่ได้ทั้ง 2 ฝ่าย ถ้าผู้ประกอบการอยู่ไม่ได้ ลูกจ้างก็อยู่ไม่ได้ นายจ้างจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายให้ลูกจ้าง ถ้าผู้ประกอบการล้มหายตายจากไปก่อน