มะเร็งผิวหนัง
มะเร็งผิวหนัง เกิดจากเซลล์ผิวหนังที่มีการแบ่งตัวและเจริญเติบโตผิดปกติจากเซลล์ผิวหนัง ก็กลายเป็นเซลล์มะเร็ง โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ เช่น การสัมผัสกับแสงแดด พันธุกรรม มีแผลเรื้อรังที่ไม่หายบริเวณ ผิวหนัง หรือมีไฝขนาดโตขึ้น สีและรูปร่างเปลี่ยนแปลงไป
ประเภทของมะเร็งผิวหนัง
มะเร็งผิวหนังสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
มะเร็งผิวหนังที่เกิดจากเซลล์ผิวหนัง แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ดังนี้
ชนิดเบเซลเซลล์ (basal cell carcinoma) มะเร็งผิวหนังที่พบมากเป็นอันดับ 1 ของมะเร็งผิวหนังทั้งหมด ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของชั้นเบเซลเซลล์ จะพบได้ในบริเวณผิวหนังที่สัมผัสกับแสงแดดเป็นระยะเวลานาน หรือเคยมีผิวไหม้แดด มะเร็งชนิดนี้ พยากรณ์โรคค่อนข้างดีและจะลุกลามช้า
ชนิดสเควมัสเซลล์ (squamous cell carcinoma) มะเร็งผิวหนังที่พบมากอันดับที่ 2 ของมะเร็งผิวหนังทั้งหมด ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของผิวหนังทั่วไป หากไม่ได้รับการรักษาหรือปล่อยทิ้งไว้มีโอกาสที่จะลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ ที่อยู่ข้างเคียงได้
มะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา (melanoma)
มะเร็งผิวหนังที่พบได้น้อยแต่มีความรุนแรงมากที่สุด เกิดจากความผิดปกติของเซลล์สร้างเม็ดสี การรับรังสียูวีของแสงแดดหรือมีผิวไหม้แดด มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งชนิดนี้ และไฝที่มีขนาดใหญ่ขึ้นจนเปลี่ยนรูปร่างไปก็ต้องระวัง และรีบมาตรวจ
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งผิวหนัง สัญญาณเตือนที่ต้องระวัง
-โดนแดดจัดเป็นเวลานาน เช่น ทำงานกลางแจ้ง ชอบอาบแดด
-คนผิวขาวหรือผิวเผือก
-คนในครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งผิวหนัง
-สัมผัสสารหนู
-ผิวที่ได้รับการฉายรังสี
-มีไฝหรือขี้แมลงวันมากผิดปกติ
-สูบบุหรี่เป็นประจำ
-เป็นแผลเรื้อรังไม่หายบริเวณผิวหนังนานกว่า 3 เดือน
-ภูมิคุ้มกันบกพร่อง
ข้อสังเกตมะเร็งผิวหนัง
-มีตุ่มหรือก้อนนูน
-ผิวแตกออกเป็นแผล มีสะเก็ด เลือดออก บางรายอาจเจ็บร่วมด้วย
-ไฝโตเร็วกว่าปกติ มีสีทีหลากหลาย รูปร่างเปลี่ยนไปไม่สมมาตร ขนาดมากกว่า 6 มิลลิเมตร
-มีผื่นเรื้อรังกลายเป็นเนื้อนูนรักษาไม่หาย
สีเล็บบอกว่าเป็นมะเร็งผิวหนังได้หรือไม่
แถบสีบนเล็บสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การบาดเจ็บบริเวณโคนเล็บจากการทำเล็บ แกะเล็บ การฉายแสง การติดเชื้อราที่เล็บ การได้รับยาบางชนิด หรือเป็นสัญญาณเตือนของมะเร็งเม็ดสีที่บริเวณเล็บได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งสามารถสังเกตสีของเล็บได้ ดังนี้
-เล็บมีแถบสีน้ำตาลเข้มหรือดำ
-แถบสีมีขนาดกว้างกว่า 3 มิลลิเมตร
-แถบสีมีขอบเขตไม่ชัดเจน
-มีความหลากหลายของสี
-แถบสียื่นเข้ามาบริเวณโคนเล็บ
วิธีการรักษา
การรักษามะเร็งผิวหนังแพทย์ต้องหาชนิดของมะเร็งที่เกิดขึ้นก่อน เนื่องจากการรักษามีความแตกต่างกันออกไป หากมองในภาพรวมวิธีการรักษามะเร็งที่ดีที่สุดเป็นการรักษาโดยการผ่าตัดเอาเนื้อมะเร็งออกทั้งหมด ซึ่งผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดสูงถึงร้อยละ 90-99 และกลับมาเป็นซ้ำน้อยที่สุด
แต่ในผู้ป่วยบางรายที่ไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้หรือมีความเสี่ยงสูงในการผ่าตัดแพทย์จะพิจารณาแนวทางการรักษาเพิ่มเติม เช่น การขูดและจี้ด้วยไฟฟ้า การพ่นด้วยไนโตรเจนเหลว การทายากระตุ้นภูมิคุ้มกัน หรือใช้เลเซอร์ทำลายออก แต่การรักษาโดยไม่ผ่าตัดมีโอกาสกลับเป็นซ้ำของมะเร็งมากกว่า
โรคมะเร็งผิวหนังสามารถรักษาให้หายขาดได้หากตรวจเจอตั้งแต่เริ่มต้นและเข้ารับการรักษาอย่างรวดเร็ว หากผู้ป่วยมีตุ่มก้อนนูน มีแผลที่ผิวหนังเป็นระยะเวลานาน หรือมีไฝที่โตขึ้นอย่างรวดเร็วควรรีบมาพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย ไม่ควรปล่อยให้ลุกลามและส่งผลต่อการรักษา
อ.นพ.ธีรพงษ์ รัตนนุกรม
สาขาวิชาโรคผิวหนัง ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล