"พัชรวาท" มอบนโยบายผู้ว่าฯตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมมีวัตถุอันตราย

2024-05-03 16:55:28

"พัชรวาท" มอบนโยบายผู้ว่าฯตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมมีวัตถุอันตราย

Advertisement

"พัชรวาท" มอบนโยบายผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมมีวัตถุอันตรายอยู่ใกล้ชุมชน

เมื่อวันที่ 3 พ.ค.67 พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ให้นโยบายผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ กำชับ กำกับ ให้มีการสำรวจโรงงานที่มีของเสียอันตราย มีวัตถุอันตราย มีความเสี่ยงสูง อยู่ใกล้ชุมชน ถูกร้องเรียนซ้ำซาก รวมถึงสถานประกอบกิจการที่กำกับโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  น.ส.ปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ พร้อมผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง 76 จังหวัด เข้าร่วม

พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวว่า จากสถานการณ์การเกิดอุบัติภัยสารเคมีหลายครั้งที่ผ่านมาส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพของประชาชน และสิ่งแวดล้อม รัฐบาลมีความห่วงใยต่อสถานการณ์ดังกล่าว ในฐานะประธานกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จึงได้ลงนามคำสั่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่ 2/2567 ลงวันที่ 26 เม.ย.67 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการระดับจังหวัด เพื่อตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมที่จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม และได้ให้นโยบายไว้ ดังนี้

1. ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด กำชับ กำกับ ให้มีการสำรวจโรงงานที่มีความเสี่ยงโดยเฉพาะโรงงานประเภทที่มีของเสียอันตราย หรือวัตถุอันตราย โรงงานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชน รวมถึงโรงงานที่ถูกร้องเรียนปัญหาด้านมลพิษซ้ำซากและไม่ได้รับการแก้ไข โดยให้จัดส่งมายังกรมควบคุมมลพิษตามระยะเวลาที่กำหนด

2. ให้อุตสาหกรรมจังหวัดสนับสนุนข้อมูลโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของการสำรวจ และหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมกันวิเคราะห์และตรวจสอบข้อมูลให้รอบคอบและถี่ถ้วน

3. ให้หน่วยงานในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ทั้ง 76 จังหวัด และสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษ ที่ 1 –16 สนับสนุนการทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัดภายใต้คณะอนุกรรมการฯ อย่างเต็มความสามารถและเต็มที่

4. ให้กรมควบคุมมลพิษ เร่งประมวลผลการตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมของคณะอนุกรรมการระดับจังหวัดทั้งประเทศ และเสนอแนวทางในการกำกับ ควบคุม ป้องกัน แก้ไขปัญหา ต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในเดือน มิ.ย.67

5. ให้จังหวัดบูรณาการซักซ้อมการปฏิบัติงานในภาวะฉุกเฉิน ทั้งก่อนเกิดภัย ขณะเกิดภัย และหลังเกิดภัย และกำหนดเป็นมาตรการรองรับเหตุการณ์ในภาวะฉุกเฉิน

6. กรณีที่เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ขอให้สื่อสารข้อเท็จจริงกับประชาชนตลอดระยะเวลาที่เกิดเหตุจนเหตุการณ์เข้าสู่สภาวะปกติ เพื่อป้องกันความตื่นตระหนกและต้องให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากทางราชการที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ท้ายนี้ ขอความร่วมมือจากทุกหน่วยร่วมกันปฏิบัติงานตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายอย่างรวดเร็ว ซึ่งการทำงานในวันนี้จะเป็นการทำงานเชิงรุก เพื่อลดการสูญเสียทั้งชีวิต ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อม ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยขอให้คำนึงถึงผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน และประเทศชาติเป็นสำคัญ ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะจัดชุดเฉพาะกิจติดตามการดำเนินงานโดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งผลการดำเนินงานทั้งหมดจะได้รายงานต่อนายกรัฐมนตรีรับทราบ