"ท้องเสีย" ทำไมห้ามดื่มนม
ท้องเสีย ทำไมห้ามดื่มนม ? เพราะเมื่อท้องเสีย เซลล์ที่ผนังลำไส้จะถูกทำลายและไม่สามารถสร้างเอนไซม์ในการย่อยน้ำตาลแลคโตส (lactose) ที่อยู่ในนม ทำให้น้ำตาลแลคโตสเกิดการหมัก ทำให้เกิดลม ทำให้แน่นท้องและอาจทำให้อาการท้องเสียแย่ลงได้
ท้องเสีย เกิดจากอะไร ?
ท้องเสียเกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่
-การติดเชื้อ ทั้งจากเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรียที่ปนเปื้อนมากับอาหาร ที่ไม่สะอาดหรือปรุงไม่สุก อาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่ลำไส้และก่อให้เกิดอาการถ่ายเหลว คลื่นไส้ อาเจียนได้
-อาหารเป็นพิษ เนื่องจากการกินอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีสารพิษจากเชื้อโรคปนเปื้อน พบเป็นสาเหตุให้มีอาการถ่ายเหลวได้เช่นกัน โดยทั่วมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหลังกินอาการเมื่อเทียบกับการติดเชื้อที่ใช้เวลาหลายชั่วโมงก่อนเริ่มมีอาการ
-สาเหตุอื่น ๆ คือ กรณีที่มีการอักเสบของลำไส้จากโรคต่าง ๆ ยา หรือการฉายแสง
ท้องเสียอันตรายหรือไม่ ?
อาการท้องเสียหรืออุจจาระร่วง พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยทั่วไปหากมีอาการท้องเสียไม่รุนแรงและได้รับการดื่มน้ำและเกลือแร่ทดแทนอย่างเพียงพอ มักไม่เกิดอันตราย โดยอาการท้องเสียส่วนใหญ่มักหายเองในไม่กี่วัน ยกเว้นการติดเชื้อบางชนิดที่ทำให้มีอาการท้องเสียที่ค่อนข้างมาก และมีอาการรุนแรงควรรีบไปพบแพทย์
ทำไมท้องเสีย แล้วห้ามดื่มนม ?
เมื่อมีอาการท้องเสียควรหลีกเลี่ยงการดื่มนมหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากนม เช่น เนย ไอศกรีม ชีส เพราะในนมมักมีส่วนประกอบของน้ำตาลที่ชื่อว่า แลคโตส (lactose) โดยหากเกิดอาการท้องเสียจะทำให้เซลล์ที่ผนังลำไส้มีความบกพร่องในการสร้างเอนไซม์ที่ชื่อว่า แลคเตส ที่มีไว้ย่อยน้ำตาลแลคโตส ทำให้น้ำตาลไม่ถูกย่อยและหมักจนเกิดเป็นลม ท้องอืด และยิ่งทำให้ถ่ายเหลวมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การดื่มนมอาจทำให้อาการท้องเสียแย่ลงได้
อาการท้องเสียเป็นอย่างไร ?
-ปวดท้อง
-ท้องอืด มีลมในลำไส้
-ถ่ายอุจจาระเหลวและถ่ายบ่อย (มากกว่า 3 ครั้งต่อวัน)
-คลื่นไส้ อาเจียน
-มีเสียงท้องร้องจากการบีบตัวในกระเพาะอาหาร
อาหารที่ควรกินในช่วงที่มีอาการท้องเสีย
อาหารที่ควรกิน ได้แก่ อาหารที่มีรสจืด ย่อยง่าย อาหารที่ไม่มีส่วนประกอบของนม และควรงดผัก ผลไม้โดยทั่วไปหากมีอาการท้องเสียไม่รุนแรง อาจหายได้เองและไม่ถึงขั้นเสียชีวิต ยกเว้นหากมีอาการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิดที่ทำให้เกิดอาการท้องเสียค่อนข้างมาก และสูญเสียน้ำจำนวนมากรวมถึงมีระดับเกลือแร่ในเลือดผิดปกติ อาจ มีอาการซึมลง และทำให้ความดันเลือดต่ำลงจนอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
วิธีการรักษาอาการอาการท้องเสีย
อาการท้องเสียระยะสั้นมักหายได้เองและมีอาการที่ไม่รุนแรง จึงมีวิธีแก้ท้องเสียและสามารถดูแลตัวเองในเบื้องต้นได้ ดังนี้
-พักผ่อนให้เพียงพอ
-ดื่มเกลือแร่บ่อย ๆ เพื่อชดเชยน้ำและแร่ธาตุที่สูญเสียไป
-หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำผลไม้ น้ำอัดลม และเครื่องดื่มที่มีนมเป็นส่วนประกอบ
-หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และคาเฟอีน
-รับประทานอาหารอ่อน เน้นการรับประทานอาหารที่ปรุงสุก ถูกสุขลักษณะ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง
ถ้ามีอาการขับถ่ายเหลวปริมาณมาก ให้ดื่มน้ำหรือน้ำที่มีเกลือแร่ผสมเพื่อทดแทนน้ำในร่างกายที่สูญเสียไป แต่อย่างไรก็ตาม หากอาการขับถ่ายมีความรุนแรงมากจนไม่สามารถให้น้ำหรือเกลือแร่เพื่อทดแทนได้ ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาด้วยการให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด และถ้าขับถ่ายแล้วมีอาการปวดท้องบิดรุนแรงมีมูกเลือดต้องรีบไปพบแพทย์
อาการท้องเสียส่งผลกระทบต่อคนทุกวัย โดยพบในเด็กได้บ่อยกว่าผู้ใหญ่ซึ่งอาการท้องเสียส่วนใหญ่มักหายได้เอง โดยควรดูแลตัวเองเบื้องต้น ไม่ให้เกิดภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการท้องเสียกินอาหารที่สุกสะอาด ล้างมือบ่อย ๆ และดูแลสุขอนามัยเป็นประจำ
รศ.นพ.จักรพงษ์ บรูมินเหนทร์
สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล