นักวิจัยเตือนว่าการใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินไปอาจทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อดื้อยาจนถึงจุดที่ยาไม่ได้ผลอีกต่อไป
ภาพ MYCHELE DANIAU / AFP
การใช้ยาปฏิชีวนะทั่วโลกพุ่งขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่ปี 2543 ทำให้เกรงว่าอาจถึงจุดที่ยาใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป ขณะที่ผลเผยว่าระดับการใช้ยากระโดดมากในอินเดีย จีนและปากีสถาน
การศึกษาที่ตีพิมพ์ลงบนวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences (PNAS) ซึ่งศึกษาจากฐานข้อมูลของ 76 ประเทศทั่วโลกเผยว่ามีการใช้ยาปฏิชีวนะเพิ่มขึ้นถึง 65 เปอร์เซ็นต์ตั้งแต่ปี 2543 ถึง 2558 และประเทศที่มีการใช้จำนวนมากเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับต่ำจนถึงกลาง โดยนักวิจัยที่นำโดยนักวิทยาศาตร์จากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ เมืองบัลติมอร์ และศูนย์เพื่อพลวัต เศรษฐกิจและนโยบายโรค กรุงวอชิงตันกล่าวว่า ประเทศเหล่านั้นต้องลงทุนให้กับการรักษาทางเลือก สุขอนามัยและวัคซีน
ทีมวิจัยกล่าวว่า “เชื้อดื้อยาที่มาจากการใช้ยาปฏิชีวนะกำลังสร้างภัยคุกคามทางสุขภาพระดับโลก และอยู่ในสถานการณ์เช่นเดียวกับภาวะโลกร้อนที่อยู่ๆ ก็แพร่กระจายอย่างรวดเร็วโดยที่ไม่รู้ตัว ซึ่งนี่อาจเป็นการป่าวประกาศถึงอนาคตที่ไร้ซึ่งยาปฏิชีวนะที่ใช้ได้ผล”
อีไล ไคลน์ หนึ่งในนักวิจัยของทีมจากศูนย์เพื่อพลวัต เศรษฐกิจและนโยบายโรคกล่าวว่า ตัวเลขการใช้ยาที่กระโดดสูงแสดงให้เห็นว่าประเทศที่เต็มไปด้วยโรคที่รักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะเข้าถึงยารักษาโรคเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น ซึ่งเมื่อเข้าถึงง่ายก็ยิ่งใช้มากขึ้นและอาจกระตุ้นให้อัตราเชื้อดื้อยาเพิ่มสูงขึ้นอีก
อัตราการใช้ยาปฏิชีวนะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยในประเทศสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศสและอิตาลีที่มีการบริโภคยาชนิดนี้มากที่สุดในโลก แต่ในเอเชีย อย่างประเทศอินเดียกลับมีอัตราการบริโภคสูงขึ้นกว่า 2 เท่า ขณะที่ในจีนอัตราการใช้ยาพุ่งร้อยละ 79 และปากีสถานอีกร้อยละ 65
สำหรับแล้ว การกำจัดการใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินไปเป็น “ก้าวแรกและเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของทุกประเทศ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคาดการณ์ว่าภายในปี 2573 การบริโภคประเภทนี้อาจเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 200