"มีชัย"ชี้ยื่นตีความ ก.ม.เลือกตั้ง ส.ส.ไม่กระทบโรดแม็ป

2018-03-28 00:00:57

"มีชัย"ชี้ยื่นตีความ ก.ม.เลือกตั้ง ส.ส.ไม่กระทบโรดแม็ป

Advertisement

ประธาน กรธ. ชี้ สนช.มีสิทธิชงตีความ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ไม่กระทบโรดแม็ป วอนศาลรัฐธรรมนูญชี้โดยเร็วภายใน 30 วัน ปัดชง คสช.ใช้ ม.44 ฟัน "สมชัย"พ้น กกต.

เมื่อวันที่ 27 มี.ค. นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงขั้นตอน การส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ตามมาตรา 148 ของรัฐธรรมนูญ ว่า อยู่ในอำนาจของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)หรือนายกรัฐมนตรี เพราะร่างพ.ร.ปว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.อยู่ในมือนายกรัฐมนตรีเกิน 5 วัน และเข้าสู่ขั้นตอนการทูลเกล้าฯภายใน 20 วัน ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 145 แล้ว ว่า ถ้านายกรัฐมนตรี ยังไม่ทูลเกล้าฯ ทั้งนายกรัฐมนตรีและสนช.ยังสามารถส่งร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ ซึ่งกรอบเวลาการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคือ 5 วัน บวก 20 วัน รวม 25 วัน สำหรับสาเหตุที่ต้องมีการกำหนด 5 วันให้นายกรัฐมนตรีรอไว้ก่อนเข้านำขึ้น ทูลเกล้าฯหลังจากนั้นภายใน 20 วัน เป็นการกำหนดขั้นต่ำเอาไว้ เพราะในอดีตเคยมีการชิงกันทูลเกล้าฯกฎหมายโดยฝ่ายบริหารในระหว่างที่สภากำลังจะยื่นตีความ จึงกำหนดไว้เพื่อไม่ให้ฝ่ายบริหารเอาเปรียบฝ่ายนิติบัญญัติ

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ที่กำหนดให้มีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 90 วัน ตรงนี้จะส่งผลให้โรดแม็ปเลือกตั้ง ต้องเลื่อนออกไปอีกหรือไม่ ประธาน กรธ. กล่าวว่า ตอนนี้ นายกรัฐมนตรีไม่อยากส่ง แต่สนช.อยากส่ง ก็คงทันไม่จำเป็นว่าต้องกระทบโรดแม็ป มันมีเวลากันอยู่ ซึ่งรวมถึงการบังคับใช้หลังครบ 90 วันด้วย โดยการกำหนดวันเลือกตั้ง 150 วันหลังจากนั้น ไม่จำเป็นต้องกำหนดวันที่ 150 แต่อาจเป็นวันที่ 90 ก็ได้ และหากศาลรัฐธรรมนูญตีความเร็วก็อาจไม่ยืด ดังนั้นหากตอนยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ก็อาจร้องขอให้ศาลพิจารณาโดยเร็วภายใน 30 วันก็ได้




เมื่อถามถึง การใช้มาตรา 44 ปลดนายสมชัย ศรีสุทธิยากร พ้นจาก กกต. ทั้งๆที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ใช้ มาตรา 44 เกี่ยวกับด้านการปฏิรูปและความมั่นคง และนายกรัฐมนตรีก็ระบุว่าสาเหตุการปลดเพราะหน่วยงานด้านกฎหมายเสนอปลดนั้น นายมีชัย กล่าวว่า "ผมไม่รู้ ต้องไปดูในคำสั่งที่เขียน ไปอ่านดูให้ดีๆ และผมไม่ใช่หน่วยงานด้านกฎหมาย ซึ่งกรธ.ไม่ได้เสนอ ส่วนการใช้มาตรา 44 ต้องอยู่ในกรอบ แต่ผมไม่ใช่คนชี้ขาด ต้องไปถามคนที่เกี่ยวข้อง