"พิเชษฐ์" เสนอออกกฎหมายคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ ยี่ห้อไหนเกิดอุบัติเหตุสูงสุด ทำคนเจ็บ คนตายพุ่ง ผู้ประกอบการรถยี่ห้อนั้นต้องจ่ายเงินชดเชยให้รัฐบาลเป็นกองทุน หนุนจับปรับพ่อแม่ให้ลูกอายุต่ำกว่า 15 ปี ขี่ จยย.
เมื่อวันที่ 27 มี.ค.67 นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุเพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนน กล่าวระหว่างปาฐกถาในการประชุมใหญ่ภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนความปลอดภัยผู้ใช้รถจักรยานยนต์ โครงการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ปลอดภัย ว่า เรื่องอุบัติเหตุจากรถมอร์เตอร์ไซค์ เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมาก ที่ผ่านมาได้ทราบว่า ภาคีเครือข่ายจากภาคส่วนต่างๆได้ช่วยกันรณรงค์ให้ความรู้ สื่อสารเรื่องความปลอดภัย ตลอดจนออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมมานานมากกว่า 30 ปีแล้ว แต่ยังไม่เป็นผล ในฐานะฝ่ายการเมืองและนิติบัญญัติ เห็นว่า แนวทางในการแก้ไขปัญหาอีกทางหนึ่งคือการทำเรื่องของกฎหมายให้มีมาตาการและการบังคับใช้ อย่างจริงจัง
นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า ขณะนี้เป็นเรื่องน่ายินดีว่า ในส่วนของสภาผู้แทนราษฎรได้มีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุเพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนน ขึ้นมา เพื่อที่จะทำหน้าที่หาแนวทางป้องกันและลดอุบัติเหตุ ซึ่งในความเห็นของตนหลังจากได้ฟังข้อมูลจากโครงการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ผู้ใช้จักรยานยนต์ปลอดภัยแล้ว รู้สึกตกใจที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บสูงสุด เป็นเด็กและเยาวชนอายุ 15-24 ปี ซึ่งถือเป็นวัยที่มีความสำคัญมากโดยเฉพาะการขับเคลื่อนประเทศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งเมื่อคนกลุ่มนี้ตายมาก เจ็บมาก หรืออาจจะต้องพิการ แน่นอนว่า จะส่งผลให้ประเทศสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล
"ผมคิดว่า การแก้ไขปัญหาที่สำคัญทางหนึ่ง คือ การออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองเด็ก และ เยาวชนจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ โดยเฉพาะกฎหมายพื้นฐาน เช่น อายุของผู้ขับขี่ ถ้าพ่อแม่อนุญาตให้ลูกที่อายุไม่ถึง 15 ปี ขับขี่มอร์เตอร์ไซค์ กฎหมายต้องลงโทษ จับ ปรับพ่อแม่ เพื่อให้ระมัดระวังมากขึ้น ไม่ใช่ซื้อมอร์เตอร์ไซค์ให้ลูกขี่ทั้ง ๆที่ลูกยังอายุไม่ถึง" นายพิเชษฐ์ กล่าวและว่า นอกจากบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด จริงจังแล้ว ตนยังอยากเสนอให้มีการออกกฎหมายคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ แบบในต่างประเทศ เช่น ถ้าจักรยานยนต์ยี่ห้อไหนเกิดอุบัติเหตุสูงสุด ทำคนเจ็บ คนตายมากที่สุด ผู้ประกอบการรถยี่ห้อนั้นๆต้องจ่ายเงินชดเชยให้รัฐบาลเป็นกองทุนเพื่อคุ้มครองคนเหล่านี้ คล้ายๆกฎหมายสิ่งแวดล้อม Polluter Pays Principle ที่ให้ผู้ประกอบการกิจการใดก็ตามที่ก่อมลพิษ หรือ ทำให้สิ่งแวดล้อมเสียหายต้องจ่ายค่าชดเชยให้ชุมชน ให้กับคนที่ได้รับผลกระทบนั้นๆ" ประธานคณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุเพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนน ระบุ
ด้าน น.ส.ศิริวรรณ สันติเจียรกุล นักวิจัยโครงการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ผู้ใช้จักรยานยนต์ปลอดภัย กล่าวว่า อยากให้ฝ่ายการเมืองช่วยเป็นปากเป็นเสียงไปถึงผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำให้คนตาย 1 คนทุกๆครึ่งชั่วโมง ได้ออกมารับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง การไม่ยอมผลิตจักรยานยนต์ที่ซีซีต่ำ 50-70 ซีซี เพื่อให้เป็นรถสำหรับผู้ขับขี่หน้าใหม่ที่เป็น Beginner ซึ่งหากมีรถที่ซีซีต่ำ ในต่างประเทศให้ขับขี่ได้ แต่มีกฎชัดเจน เช่น ห้ามขับขี่ในเวลากลางคืน ไม่ให้มีการซ้อนท้าย สิ่งเหล่านี้ไม่มีในประเทศไทย จึงทำให้มีโศกนาฏกรรมเกิดขึ้นทุกชั่วโมงและทุกวันบนท้องถนน เมื่อผู้ขับขี่หน้าใหม่สามารถเริ่มต้นการขับขี่รถมอร์เตอร์ไซค์ที่ 110 ซีซีหรือ 125 ซีซีได้เลย
ขณะที่ นายพรหมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ(สคอ.) กล่าวว่า หากรัฐสภาและฝ่ายนิติบัญญัติ ติดตาม กำกับการบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองประชาชนในเรื่องของอุบัติเหตุอย่างจริงจัง เชื่อว่า จะช่วยลดการตายบนท้องถนนได้อย่างน้อยปีละ 5,000 คน
สำหรับการจัดประชุม ใหญ่ภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนความปลอดภัยผู้ใช้จักรยานยนต์ โครงการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ผู้ใช้จักรยานยนต์ปลอดภัย ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อรายงานความคืบหน้าโครงการจากวิชาการ งานวิจัย Policy Paper ด้านคน รถ ถนน ระบบและกลไก รวมทั้งเผยแพร่แนวทางของ สสส. ภาครัฐ เอกชนที่เกี่ยวข้อง และภาคการเมือง ในการแก้ปัญหาอุบัติเหตุจักรยานยนต์และการพัฒนาความปลอดภัยของผู้ใช้จักรยานยนต์และผู้ร่วมถนน ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างเครือข่ายฯ และแสวงหาแนวทางผนึกกำลังร่วมกันขับเคลื่อนความปลอดภัยผู้ใช้จักรยานยนต์และใช้ถนน