"สุวัจน์" ขอบคุณนายกฯให้ความสำคัญการพัฒนาโคราช ด้านคมนาคม การบิน การลงทุน ท่องเที่ยว
เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 67 นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานพรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) กล่าวขอบคุณ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอีกหลายท่านที่ได้ลงพื้นที่จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยนายกรัฐมนตรีได้มีนโยบายสนับสนุนการพัฒนา และการแก้ไขปัญหาหลายๆ ด้าน และได้เห็นความสำคัญของการพัฒนาโคราช ในด้านการคมนาคม การบิน การท่องเที่ยว การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร และการลงทุนต่างๆ
ประธานพรรคชาติพัฒนากล้า ยืนยันถึงความพร้อมและของดีของเมืองโคราชที่มีอยู่ สามารถที่จะต่อยอดและเพิ่มศักยภาพด้านเศรษฐกิจ ด้านการลงทุน ด้านการท่องเที่ยว เพื่อการขยายตัวของ GDP ให้กับประเทศ ของดีในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ คือ โครงการมอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา รถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพฯมาโคราช รถไฟทางคู่ ซึ่งมีการลงทุนนับแสนล้าน ถ้าเร่งรัดให้แล้วเสร็จและมีการลงทุนและขยายโครงการเพิ่มเติม จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญ ด้านการลงทุน และ การท่องเที่ยว ที่จะเกิดขึ้น ไม่ใช่เฉพาะที่โคราชเท่านั้น แต่จะขยายตัวไปยังจังหวัดอื่นๆในภาคอีสานอีกมาก จะเป็นการใช้ทรัพยากรของชาติที่ลงทุนไปแล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุดอีกด้วย จังหวัดนครราชสีมายังอุดมสมบูรณ์ ไปด้วยพื้นฐานการเกษตร เช่น ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง และ สินค้า GI ที่มีชื่อเสียง เช่น ข้าวหอมมะลิทุ่งสัมฤทธิ์ ทุเรียนปากช่องเขาใหญ่ มะขามเทศเพชรโนนไทย กาแฟดงมะไฟ ไวน์เขาใหญ่ ซึ่งสามารถพัฒนาต่อยอดเพิ่มมูลค่าเพิ่มเป็นสินค้าส่งออก. และสร้างประเทศไทยให้เป็นเมืองอาหารป้อนโลกได้ โดยใช้โคราชและอีสานเป็นแหล่งผลิต โคราชยังเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ด้วยซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ที่รัฐบาลมีนโยบายในการต่อยอดทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว มีภาษาโคราช เพลงโคราช ผ้าไหมโคราช อาหารโคราช มวยไทยโคราช และโคราชยังมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวที่สูงมาก อำเภอปักธงชัยและวังน้ำเขียวมีอากาศที่ดีมีโอโซนสูง เหมาะสมที่จะเป็นเมืองสุขภาพ
นายสุวัจน์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยูเนสโก UNESCO ได้ให้การรับรองโคราชเป็นเมืองทริปเปิลคราวซิตี้ของ UNESCO คือ มีพื้นที่สงวนชีวะมณฑลที่ อ.ปักธงชัย มีพื้นที่ที่เป็นมรดกโลกที่เขาใหญ่ ปากช่อง และมีพื้นที่ล่าสุดที่ยูเนสโก ให้ การรับรองเป็นอุทยานธรณีโลก ใน 5 อำเภอ คือ อ.เมือง อ.สีคิ้ว อ.สูงเนิน อ.ขามทะเลสอ และอ.เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งสามารถสร้าง เส้นทาง Unesco route เชื่อมโยง 3 พื้นที่ดังกล่าวให้เป็นย่านท่องเที่ยว ย่าน UNESCO ของเมืองไทย จะเป็นการสนับสนุนแนวคิดและนโยบายในการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เป็นวาระสำคัญด้านเศรษฐกิจของประเทศ
อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับด้านการลงทุนนั้น แนวคิดของรัฐบาลในการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษให้เกิดขึ้นในทุกภาคนั้น เป็นแนวคิดที่ดี จะเป็นการวางพื้นฐานการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาวของประเทศ ภาคอีสานมีความเหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่รัฐบาลได้วางไว้แล้ว คือมอเตอร์เวย์ รถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง ประกอบกับภูมิศาสตร์ของภาคอีสานที่มีความเป็นสากลเพราะอยู่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านในอินโดจีน ซึ่งปัจจุบันเป็นตลาดการค้าและการลงทุนที่สำคัญมาก และวัตถุดิบและทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ในภาคอีสาน ความพร้อมด้านแรงงาน มีมหาวิทยาลัยกระจายอยู่ทั่วภาคอีสาน จะเป็นพื้นฐานที่สามารถนำไปสู่การสร้างระเบียงเศรษฐกิจใหม่ ให้เกิดการลงทุนครั้งใหญ่ในประเทศ คล้ายกับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ( EEC) จะทำให้เกิดการจ้างงานการขยายตัวทางเศรษฐกิจและ GDP ให้กับประเทศไทยอย่างมากมาย
"ขอขอบคุณรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโคราชและภาคอีสาน และถ้ามีการประชุม ครม.สัญจรเกิดขึ้นที่จ.นครราชสีมา เร็วๆ นี้ ก็คงจะได้เห็นแนวทางต่างๆให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ก็จะก่อให้เกิดความมั่นใจต่อพี่น้องประชาชนในภาคอีสานและโคราช ถึงความสำเร็จของการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ การลงทุนและการท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้นในอนาคต” นายสุวัจน์ กล่าว