"สมชาย"จี้ ป.ป.ช.ตรวจสอบ "นายกฯ-รมว.ยธ.-กรมคุมประพฤติ" ปม "ทักษิณ" ยันไม่ได้มีอคติ หวั่นทำให้เกิดความเสื่อมศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรม
เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 67 ที่รัฐสภา นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ พร้อมกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนายเศรษฐา ระบุด้วยว่าหากเป็นไปได้จะควงนายทักษิณลงพื้นที่ด้วย ว่า เป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองที่สังคมตั้งคำถามมากเพราะนายทักษิณ ยังเป็นนักโทษเด็ดขาดที่ได้รับการพักโทษ การขออนุญาตเดินทาง ไปเพื่อไหว้สุสานบรรพบุรุษ ถ้ากรมควบคุมประพฤติอนุญาตก็ทำได้แต่ถ้าดูจากการเดินทางและพฤติการณ์ทั้งหมดที่สื่อมวลชนได้ตามถ่ายทอดสดตลอด ไม่ว่าจะเป็นในการไปในสถานที่ต่างๆ จนงานตรวจราชการ เสมือนหนึ่งเป็นนายกฯ ไปจัดงานรื่นเริงสังสรรค์ที่ร้านอาหารกับเพื่อนมงฟอร์ต ที่บ้านในสนามกอล์ฟ โดยมีนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ปลัดกระทรวง อธิบดีกรมต่างๆ รอง ผบ.ตร. ผู้การตำรวจจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัด ไปรายงานปฏิบัติการต่างๆ ตนคิดว่าไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะนายทักษิณ ยังอยู่ในคดียังไม่พ้นโทษ
นายสมชาย กล่าวต่อว่า จากการสอบถามจากแพทย์พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ถ้าดูจากที่เห็นในภาพข่าวนายทักษิณมีสุขภาพแข็งแรง 90 เปอร์เซ็นต์ แต่อาการป่วยเป็นเรื่องธรรมดาที่อาจจะหลงเหลืออยู่ ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบ ทั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช) ตรวจสอบว่าข้าราชการเอื้ออำนวยต่อนายทักษิณหรือไม่ ย้ำว่าจะต้องเร่งมือซึ่งทราบว่าอยู่ระหว่างการหาข้อมูล เพื่อที่จะส่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าจะมีมติให้ไต่สวนหรือไม่ ขณะเดียวกัน คณะกรรมาธิการของวุฒิสภา 2 คณะ ได้ส่งเอกสารที่มีการสอบไปแล้วให้กับ ป.ป.ช. ส่วนตัวจึงเห็นว่า ป.ป.ช. ควรมีมติไต่สวนเพิ่มเติม โดยไต่สวนและผู้ที่รับผิดชอบคือ 1.นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับรัฐบาล ประธาน ก.ตร. เป็นผู้ดูแลโรงพยาบาลตำรวจ ว่าการเจ็บป่วยที่รักษา 180 วัน โดยแพทย์ รพ.ตำรวจ ซึ่งมีผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งขึ้นมาจากแพทย์ใหญ่ และแพทย์ทำการรักษา มีข้อเท็จจริงประการ เวชระเบียน ซึ่ง ป.ป.ช. มีอำนาจเรียกมาตรวจ หากผิดไปจากความเป็นจริงก็จะเข้าข่ายการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของส่วนแพทย์ นอกจากนี้หน่วยที่ 2 ที่จะต้องมีการตรวจสอบ คนที่รับผิดชอบคือ รมว.ยุติธรรม ปลัดยุติธรรม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพ คณะกรรมการพักโทษ จะต้องมีการสอบสวนว่าได้ใช้อำนาจหน้าที่ในการอนุมัติตั้งแต่วันที่ 22 ส.ค. 66 ด้วยระบบที่ถูกต้องหรือไม่ให้นายทักษิณไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ และการอนุมัติให้รักษาตัวต่อในโรงพยาบาลเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ และส่วนที่ 3 ที่ต้องถูกตรวจสอบคือกรมคุมประพฤติ ในการอนุญาตให้ไปพักโทษในการคุมขังนอกเรือนจำตามระเบียบ ซึ่งในเงื่อนไข 8 ประการ มีกำหนดห้ามดื่มเหล้า ที่หมายถึงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ แต่กรณีการอนุญาตให้ดื่มไวน์ได้ รวมถึงการอนุญาตให้ไปไหว้สุสาน แต่กำหนดการที่สื่อมวลชนได้รับจากการเผยแพร่เปรียบเป็นกำหนดการตรวจราชการ กำหนดการเดินทางท่องเที่ยวพักผ่อนของนักโทษ ไปสวนสัตว์ไนท์ซาฟารี เมื่อเปรียบเทียบกับบรรทัดฐานที่ปฏิบัติกับนักโทษรายอื่น
"ที่กล่าวมาเป็นการทำหน้าที่ในฐานะวุฒิสภา ตรวจสอบแทนประชาชนตรงไปตรงมาตรง ไม่ได้มีอคติใดๆ กรณีนายทักษิณกลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมนั้นเห็นด้วย แต่กรณีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งนายกรัฐมนตรีและข้าราชการประจำ หากมีการเอื้ออำนวยให้เกิดปัญหาการบิดเบี้ยวและทำให้เสื่อมศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรม และเกิดวิกฤตศรัทธาต่อระบอบประชาธิปไตย ซึ่งจะนำไปสู่วิกฤตศรัทธาในอนาคต โดยจะนำเข้าสู่กรรมาธิการต่อไป พร้อมจี้ ป.ป.ช. ดำเนินการตรวจสอบโดยเร็วเพื่อให้ความแคลนใจของสังคมหมดไป” นายสมชาย กล่าว