"กรน-หยุดหายใจ"ขณะหลับ

2024-02-08 10:32:17

"กรน-หยุดหายใจ"ขณะหลับ

Advertisement

"กรน-หยุดหายใจ"ขณะหลับ

หากมีอาการหลับใน ง่วงมึน ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจวาย โรคหลอดเลือดแดงโคโรนารี (หากเป็นรุนแรงอาจส่งผลให้เพิ่มอัตราตายได้) โรคหลอดเลือดสมอง (อัมพฤกษ์ อัมพาต) สมาธิความจำลดลง หงุดหงิดง่าย และเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ

คาดไม่ถึงว่าทั้งหมดที่กล่าวมานี้ อาจมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจาก "การนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ " ได้ ในทุก ๆ วัน เวลาส่วนหนึ่งต้องใช้ไปกับการนอน ซึ่งการนอนเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับทุกเพศทุกวัย หากชั่วโมงการนอนเพียงพอแล้วแต่กลับยังไม่สดชื่น มึนง่วงหลับ อาจต้องกลับมาพิจารณาถึง โรคทางการนอนหลับอื่น ๆ เช่น นอนกรน ซึ่งบางคนอาจคิดว่า การกรนนั้นเป็นเรื่องปกติ แต่จริง ๆ แล้ว การกรนอาจเป็นสัญญานเตือนอย่างหนึ่งของโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นได้ ส่วนใหญ่แล้วเสียงกรนมักเกิดจากทางเดินหายใจส่วนบนที่แคบหรือหย่อนผิดปกติ เมื่อลมหายใจผ่านรวดเร็วขณะหลับอาจทำให้เกิดการสั่นสะเทือนของอวัยวะทางเดินหายใจจนเกิดเป็นเสียงกรนขึ้น

หากเป็นมากขึ้นอาจมีการหยุดหายใจขณะหลับเป็นระยะ ๆ ได้ บางรายอาจทำให้ออกซิเจนในเลือดต่ำกว่าปกติได้ และบางคนอาจรู้สึกได้ว่ามีการตื่นหายใจเฮือกขึ้นมาขณะหลับ ทำให้ขาดความต่อเนื่องในการนอนหลับและส่งผลให้คุณภาพการนอนไม่ดีได้ หากเป็นมาก อาจทำให้เกิดโรคร้ายแรงตามมาได้หลายอย่างข้างต้น โดยเฉพาะอาจทำให้ง่วง หลับใน จนเกิดอุบัติเหตุถึงแก่ชีวิตได้

ส่วนในเด็กยังอาจส่งผลต่อระบบประสาทและพฤติกรรม ความจำ อีกด้วย ดังนั้น โรคนี้หากเป็นมากทำให้คุณภาพชีวิตไม่ดีได้ทั้งตอนนอนและตอนตื่น ทั้งยัง อาจก่อโรคที่ร้ายแรงอื่น ๆ ตามมาได้ด้วย

เบื้องต้นควรหาสาเหตุว่า มีทางเดินหายใจแคบ และหรือ หย่อน จากตรงไหนหรือสาเหตุอะไร เช่น อ้วน มีเนื้องอกขวางทางเดินหายใจส่วนบน โคนลิ้นใหญ่ ต่อมทอนซิลโต ฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ ภูมิแพ้จมูก เป็นต้น สำหรับการรักษากรนมีหลายวิธี ขึ้นกับแต่ละบุคคล ระดับความรุนแรง สาเหตุการกรน และตำแหน่งแคบหย่อน ซึ่งแพทย์อาจประเมินจากประวัติ ตรวจร่างกาย และอาจส่งตรวจ ส่องกล้อง ตรวจการนอนหลับ เป็นต้น

สำหรับการรักษา  เช่น การใส่เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก การผ่าตัดแก้ทางเดินหายใจส่วนที่แคบหย่อน การใช้อุปกรณ์ในช่องปาก หรือใช้หลายวิธีร่วม ๆ กัน เบื้องต้นสำหรับการปฏิบัติตัว เช่น หากอ้วนควรลดน้ำหนัก นอนตะแคงอาจช่วยได้ในบางราย หลีกเลี่ยงยานอนหลับ แอลกอฮอล์ ยาคลายกล้ามเนื้อ ยากดประสาทส่วนกลางก่อนนอน และหากไม่ดีขึ้น มีปัญหาแทรกซ้อนตามมา หรือ เสียงกรนทำให้คนข้าง ๆ นอนไม่หลับ ควรปรึกษาแพทย์

โครงการจัดตั้งศูนย์โรคการนอนหลับ ขอเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรม วันนอนหลับโลก (World Sleep Day 2024) ในหัวข้อ "นอนหลับสมดุล เป็นต้นทุนสุขภาพสากล Sleep Equity for Global Health" ในวันที่ 7 มี.ค.67 เวลา 08.00-13.00 น. ณ ลานกิจกรรมหน้าพระบรมสาทิสลักษณ์ ชั้น 1 อาคารสมเด็จพระเทพรัตน์ โดยภายในงานมีกิจกรรมเสวนาให้ความรู้เชิงวิชาการเกี่ยวกับการนอนโยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และกิจกรรมการประกวดแต่งกายชุดนอน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook: Sleep รามาฯ หรือศูนย์โรคการนอนหลับ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2200-3776

อ.พญ.นวรัตน์ อภิรักษ์กิตติกุล

ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา

คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล