ย้อนอดีต 333 ปี เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ณ พระราชวังแวร์ซาย (คลิป)

2018-03-21 17:20:04

ย้อนอดีต 333 ปี เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ณ พระราชวังแวร์ซาย (คลิป)

Advertisement

เอ่ยถึงละครที่ฮอตที่สุดขณะนี้คงหนีไม่พ้นละครเรื่่อง “บุพเพสันนิวาส” ที่นอกจากทำให้ผู้ชมได้ซึมซับประวัติศาสตร์อันงดงามสมัยกรุงศรีอยุธยาในยุคสมเด็จพระนารายณ์ทรงปกครองบ้านเมืองอันเป็นช่วงที่อยุธยามีความเจริญรุ่งเรืองมากที่สุดแล้ว...

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในนวนิยายเรื่องนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงการเจริญสัมพันธไมตรีด้านการทูตระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ในยุคแรกได้อย่างชัดเจนอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับคณะทูตที่นำโดย เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ที่ถูกส่งไปยังฝรั่งเศส เพื่อเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 อันเป็นกุศโลบายของสมเด็จพระนารายณ์ ที่ทรงต้องการคานอำนาจของชาวฮอลันดา ที่เริ่มจะมีท่าทีไม่ไว้ใจในแผ่นดินอยุธยา ด้วยการแสดงให้เห็นว่า อยุธยา เองก็ได้มีการเจริญความสัมพันธ์กับประเทศที่เป็นมหาอำนาจในยุโรปอย่าง “ฝรั่งเศส” ด้วยเช่นกัน

ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างสมเด็จพระนารายณ์กับเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ตามบันทึกกล่าวไว้ว่า เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ได้มีความสนิทชิดใกล้กับสมเด็จพระนารายณ์มากกว่าในฐานะข้าราชบริพาร แต่หากมีความสนิทมากกว่าระดับพระสหายเพราะเปรียบเสมือนเป็นเช่นพี่น้องกันก็มิปาน




เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) นั้น ได้รับการไว้วางพระทัยและการยกย่องจากสมเด็จพระนารายณ์มิใช่น้อย ดังจะเห็นได้ว่าในคราวที่สมเด็จพระนารายณ์มีพระราชประสงค์จะเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส และปรารถนาที่จะให้ไทยเราได้ไปเห็นความเป็นอยู่ของต่างประเทศว่ามีความก้าวหน้าล้ำไปอย่างไรนั้น สมเด็จพระนารายณ์ก็ได้ทรงเลือกนายปานผู้เป็นน้องชายของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ให้ได้รับเกียรติอันสูงสุดโดยแต่งตั้งเป็นราชทูตไทยเดินทางไปยังฝรั่งเศส เพื่อถวายพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการต่าง ๆ

เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) จึงเป็นราชทูตไทยคนแรกของประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ได้เดินทางออกจากแผ่นดินไทยไปสู่แผ่นดินต่างประเทศ



ซึ่งเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) และคณะราชทูตไทยนั้นได้ลงเรือเดินทางออกจากประเทศไปเมื่อปี พ.ศ. 2228 ซึ่งเป็นการเดินทางไปเยือนต่างประเทศได้สำเร็จเป็นครั้งแรก ก่อนหน้านั้นไทยเราได้ส่งคณะทูตออกเดินทางสู่ต่างประเทศบ้างแล้ว แต่ทว่ามิสามารถเดินทางไปถึงจุดหมายได้ เพราะเกิดอุปสรรคเรืออับปางลงก่อนเสมอ

เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เดินทางถึงฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2228 โดยได้เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ณ พระราชวังแวร์ซาย ในเดือนกันยายน พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ได้ให้การต้อนรับคณะทูตไทยอย่างสมเกียรติและได้แลกเปลี่ยนเครื่องราชบรรณาการกันด้วย

พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 นั้นมีความทึ่งและชื่นชมในคณะทูตไทยเป็นอย่างยิ่ง ที่สามารถฝ่าคลื่นลมมรสุมกลางมหาสมุทรมาสู่ฝรั่งเศสได้อย่างปลอดภัย เมื่อซักถามถึงวิธีการเอาตัวรอดพ้นจากอันตรายนั้น เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ก็ได้กราบทูลตอบด้วยความเฉลียวฉลาด อันเป็นเหตุให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 โปรดปรานและชื่นชมในสติปัญญาแก่เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เป็นยิ่งนัก



เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ในขณะนั้นยังอยู่ในวัยหนุ่ม จึงนับได้ว่าเป็นราชทูตที่มีความสง่างามทั้งบุคลิกและสติปัญญาอันปราดเปรื่องลึกซึ้ง อีกทั้งกิริยามารยาทสุภาพเรียบร้อย เป็นผู้ที่ช่างจำช่างคิดและไตร่ตรองก่อนพูดเสมอ

ในชั้นเชิงการทูตนั้น กล่าวได้ว่า ท่านมีความลึกซึ้งเป็นอย่างยิ่ง จึงสามารถสร้างประโยชน์และความสำเร็จให้เกิดขึ้นระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในการเจริญสัมพันธไมตรีครั้งนั้น

นอกจากชั้นเชิงลีลาและฝีมือในการทูตแล้ว เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ยังได้นำเอาวิชาความรู้ทางด้านคาถาคงกระพันชาตรีอันเป็นความเชื่อดั้งเดิมของไทยเราแต่สมัยโบราณไปอวดให้เป็นที่ประจักษ์แก่หน้าพระพักตร์พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แลทหารฝรั่งเศสทั้งปวงด้วย

ทั้งนี้ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ได้จัดการให้คนไทย 17 คน แต่งเป็นลูกศิษย์อาจารย์นุ่งขาวห่มขาว  นุ่งเครื่องแต่งตัวที่ลงเลขเสกยันต์พันผ้าต่างๆ  นั่งอยู่ที่หน้าพระลาน  แล้วให้ทหารฝรั่งเศสยิงเข้าใส่ ซึ่งด้วยอำนาจคุณของคาถาอาคมและเลขยันต์ต่าง ๆ  นั้น ทำให้ปืนไฟของฝรั่งเศสไม่สามารถจะยิงกระสุนออกได้แม้แต่นัดเดียวหรือกระบอกเดียว  ตามที่เรียกกันว่า “ปืนด้าน”นั่นเอง และด้วยวิชาอาคมของไทยโบราณในครั้งนั้นทำให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และทหารชาวฝรั่งเศสถึงกับทึ่งในวิชาโบร่ำโบราณของไทยเป็นยิ่งนัก



ด้วยเพราะมีปฏิภาณไหวพริบอันปราดเปรื่องลึกซึ้ง  เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน)  จึงได้รับพระกรุณาอย่างสูงจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14  สามารถเข้าเฝ้าและคอยอยู่ใกล้ชิดเบื้องยุคลบาทได้เสมอ และนั่นเอง จึงเป็นเหตุให้เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) สามารถสังเกตความเป็นไปต่างๆ  ในราชสำนักได้โดยละเอียดแม้กระทั่งการตกแต่งพระราชอาสน์ของพระมหากษัตริย์  ท่านก็ได้สังเกตการณ์ประดับและการตกแต่งเพชรพลอยทั่วราชอาสน์นั้นด้วย  มิได้เพียงแค่ศึกษาความเป็นไปในการปกครองบ้านเมืองแต่อย่างเดียวเท่านั้น

พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงโปรดเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) อย่างสูง ถึงขนาดพระราชทานนางข้าหลวงชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งให้เป็นภริยาของราชทูตโกษาธิบดี (ปาน) พร้อมทั้งพระราชทานเครื่องแต่งกายแบบฝรั่งเศสกับเพชรพลอยต่าง ๆ  จำนวนหนึ่งให้แก่ราชทูตผู้นี้ด้วย

เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) พำนักอยู่กินกับภริยาชาวฝรั่งเศสจนกระทั่งได้บุตรชายผู้หนึ่ง ซึ่งพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ได้ทรงขอลูกชายนั้นไว้ด้วย มีพระประสงค์อยากจะได้ทายาทเชื้อสายของราชทูตผู้เฉลียวฉลาดผู้นี้ไว้เลี้ยงดูเป็นที่รักใคร่ต่อไป  ดังนั้น  เมื่ออยู่พำนักที่ฝรั่งเศสครบ 3  ปีเต็ม  เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) จึงได้กราบบังคมทูลลาพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และฝากฝังภริยากับบุตรไว้กับราชาแห่งฝรั่งเศสก่อนที่จะเดินทางมุ่งกลับสู่แผ่นดินไทย  ในช่วยปลายปี 2230

นอกจากความเฉลียวฉลาดเยี่ยงนักปราชญ์ราชทูตแล้ว  เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ยังมีจิตใจที่หาญกล้าเด็ดเดี่ยวมิใช่น้อย ท่านได้เคยออกทัพจับศึก และมีชัยชนะในการศึกหลายครั้งหลายครา  เป็นต้นว่า ครั้งที่นำกรุงศรีอยุธยาไปทำสงครามกับพม่าถึงกรุงอังวะนั้น  ท่านก็ได้ชัย และยังได้ปราบปรามหัวเมืองที่ยังกระด้างกระเดื่องต่าง ๆ  ให้สงบราบคาบได้อีกด้วย

ครั้นเมื่อสิ้นรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ก็ตกที่นั่งลำบาก  เนื่องจากพระเพทราชานั้นมิได้มีความเป็นมิตรไมตรีกับเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) แต่อย่างเดิม  ทั้ง ๆ  ที่พระเพทราชานั้นก็เรียกมารดาของพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ว่าแม่  แต่ทว่าด้วยความขัดแย้งทางการเมือง เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน)  จึงถูกกลุ่มของพระเพทราชาและขุนหลวงสุรศักดิ์จับตัวเอาไปเฆี่ยนตีทำทรมานจนถึงแก่อสัญกรรมในวัยเพียง 40 ปีเท่านั้น




ติดตามชมสารคดี “สำรวจโลก” ตอน พระราชวังแวร์ซาย ร่วมค้นหาคำตอบ...เหตุใดสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จึงต้องส่งคณะฑูตนำโดยเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส และเรื่องราวความสำคัญและความสง่างามของพระราชวังแวร์ซายได้ในวันศุกร์ที่ 30 มี.ค.-วันอาทิตย์ที่ 1 เม.ย.นี้ (3 วันติดต่อกัน) เวลา 21.00 น. ทางสถานีโทรทัศน์ NEW 18