"โรม"ไม่เห็นด้วยปมเสนอแก้ ม.112 นำไปสู่การยุบพรรค ตัดสิทธิทางการเมือง
เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 67 ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้ความเห็นภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ในคดีใช้นโยบายแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 หาเสียง ของพรรคก้าวไกล และมีคำตัดสินว่า พรรคก้าวไกล เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง และสั่งยุติการกระทำ ว่า ปกติเมื่อมีข้อที่จะต้องวินิจฉัย โดยศาลรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องสร้างความชัดเจนให้กับสังคม ซึ่งอาจจะกลายเป็นบรรทัดฐานให้สังคมปฏิบัติต่อไป และสถานะของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร แนวคำวินิจฉัยของศาลจึงมีความสำคัญอย่างมาก เราจึงคาดหวังให้แนวคำวินิจฉัยสร้างให้มีความเข้าใจตรงกัน ว่าจะต้องปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอย่างไร ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยทันที คือ อย่างนี้คนที่ศาลเคยตัดสินยกฟ้องคดี ม.112 ไปเท่าไร ให้ประกันตัวไปเท่าไร ประชาชนที่เข้าชื่อเสนอให้ยกเลิก ม.112 จะอย่างไร เราเสนอนโยบาย คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ไม่ได้ขัดขวางอะไร สิ่งเหล่านี้เต็มไปด้วยคำถามตามมาทั้งหมด
นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า แม้ยังไม่เห็นคำวินิจฉัยของศาลตัวเต็ม แต่เฉพาะหน้าสังคมก็มีคำถามต่อเรื่องนี้อย่างมาก ตนไม่แน่ใจ ว่าจะมีผลกระทบทางการเมืองมากน้อยเท่าไหร่ แต่จะทำให้เราต้องรอดู ว่าจะได้คำตอบของคำถามเหล่านั้นหรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากจะคาดการณ์
นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า การที่พรรคก้าวไกลได้รับความสนับสนุนจากพี่น้องประชาชนจำนวนมากขนาดนี้ ก็แสดงให้เห็นว่าพี่น้องประชาชนที่เลือกเรา เขาเองก็อยากจะออกจากวิกฤตทางการเมือง การเสนอนโยบาย คือการแก้ปัญหาให้กับประเทศ การที่มีคน 14 ล้านคนเห็นด้วย แต่ถูกบอกว่าห้ามเสนอ ห้ามแก้ และห้ามมีพื้นที่ด้วย ส่วนตัวมองว่า ก็จะเป็นวิกฤตใหม่ ที่วนไปวนมา หาทางออกไม่ได้ ก็พยายามทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด
เมื่อถามว่า หากฉากทัศน์สุดท้ายของการแก้ ม.112 คือการยุบพรรคก้าวไกลมีแผน 2 หรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า อย่าเพิ่งคิดไปถึงตรงนั้น เพราะเรายังมีเวลาในการพิจารณา ยังต้องคุยกันภายในพรรค ว่าสุดท้ายแล้วจะอย่างไร อย่าพึ่งพูดถึงแผน 2 เพราะหากเราคุยกันเคลียร์ และมีทิศทางที่ชัดเจน ก่อนจะมีแผนบีก็ต้องสู้คดีก่อน จึงมองว่าอาจจะไม่ต้องรีบให้พี่น้องประชาชนทราบในตอนนี้อย่างหนึ่งที่ต้องบอกในโอกาสนี้ คือความคิดแบบที่ก้าวไกลคิด โดยที่เรามีจุดยืนที่จะสร้างสังคมให้ดีขึ้น มันจะไม่มีทางสูญสลาย และหายไปจากสังคมอย่างแน่นอน ก้าวไกลไม่ใช่ตัวบุคคล แต่ก้าวไกลคือทุกคนที่มีความเชื่อในการเห็นสังคมที่ดีกว่า เมื่อพิจารณาทั้งรัฐธรรมนูญ หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ไม่มีกฎหมายฉบับใดที่ห้ามเสนอแก้ไข ม.112 ดังนั้น ขั้นตอนการเสนอแก้ไขกฎหมายที่เราได้ทำไปแล้วนั้น เป็นกระบวนการตามปกติที่กฎหมายให้อำนาจ ส่วน ส.ส.ในสภาฯจะเห็นอย่างไรนั้น ก็เป็นเรื่องที่แต่ละฝ่ายใช้อำนาจวินิจฉัยกันไป ที่ผ่านมาเราพยายามทำ หน้าที่ให้ดีที่สุด แต่ในเมื่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาเช่นนี้ ก็คงต้องพูดคุยกันในพรรคว่าจะมีแนวทางกันอย่างไร แต่ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยที่ออกมา
เมื่อถามถึงกรณีที่นายรังสิมันต์เป็นหนึ่งใน ส.ส. 44 คน ที่เคยลงชื่อแก้ไข มาตรา 112 กังวลว่าจะถูกร้องจนนำไปสู่การตัดสิทธิ์ทางการเมืองหรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยหากสุดท้ายจะมีการดำเนินคดี ทั้งการยุบพรรค และการตัดสิทธิ์ ส.ส.ทั้ง 44 คน แต่ตนคงไปห้ามไม่ได้ และเชื่อว่าต้องมีคนไปร้อง ก็คงต้องสู้คดีกันต่อไป ส่วนผลจะเป็นอย่างไร เป็นเรื่องของอนาคต