"พิธา"บอกผมกลับมาแล้วครับท่านประธาน โชว์กึ๋นบริหารจัดการขยะ อปท. แนะ 5 ข้อเสนอแก้ปัญหาต้นทาง กลางทาง และปลายทาง
เมื่อวันที่ 09.30 น.วันที่ 26 ม.ค.ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เป็นพิเศษ โดยมีนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่1 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ภายหลังจากให้สมาชิกหารือถึงปัญหาความเดือดร้อนต่างๆของประชาชน จากนั้นเข้าสู่ ซึ่งมีวาระการพิจารณาญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องการบริหารจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ น.ส.มัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช ส.ส.ลพบุรี และนายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย เป็นผู้เสนอ และมีญัตติในทำเดียวกันอีก 4 ฉบับ
ในเวลา 11.50 น. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ลุกขึ้นอภิปรายครั้งแรกหลังจากกลับเข้ามาทำหน้าที่ ส.ส. อีกครั้ง ว่า ผมกลับมาแล้วครับท่านประธาน อาจจะเป็นเวลานานถึง 6 เดือนที่ไม่ได้มีโอกาสอภิปราย ปัญหาของพี่น้องประชาชนในสภาแห่งนี้ จนกระทั่งบัตรเสียบก็ยังไม่ได้ทำ แต่โชคดีที่ยังมีบัตรสำรอง ให้มีโอกาสได้มาพูดถึงปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่ตนได้ลงไปในช่วงที่ถูกให้หยุดปฏิบัติหน้าที่สส. ซึ่งญัตติการบริหารจัดการขยะชุมชนขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และพื้นที่เมืองท่องเที่ยว ซึ่ง 2 สถานที่ที่ตนได้มีโอกาสลงไปในพื้นที่ คือบ่อขยะ ต.แพรกษาใหม่ จ.สมุทรปราการ และบ่อขยะเทศบาลนคร จ.ภูเก็ต ทั้ง 2 ที่มีความแตกต่างกัน จ.สมุทรปราการเป็นเมืองอุตสาหกรรม แต่จ.ภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยว
นายพิธา กล่าวต่อว่า ขอสรุปผลกระทบและงบประมาณการจัดการขยะของจ.สมุทรปราการ โดยมีกองขยะสูงถึง 5-10 ชั้น ซึ่งมีผลกระทบที่เกิดขึ้น มีขยะรายวัน 2,830 ตัน/วันสามารถจัดการขยะได้อย่างถูกต้องตามสุขลักษณะ 300 ตันต่อวัน แต่มีขยะที่ถูกจัดการไม่ถูกต้อง 2,530 ตันต่อวัน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพต่อพี่น้องสมุทรปราการเพราะข้างๆ บ่อขยะเป็นโรงเรียนเด็กเล็ก และเสี่ยงที่จะเกิดอัคคีภัย แต่จีดีพีมีจำนวน 660,865 ล้านบาท งบประมาณที่อปท.ได้ 49 แห่ง อยู่ที่ 1,654 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.25% ของจีดีพี
นายพิธา กล่าวอีกว่า ขณะที่จ.ภูเก็ต มีกองขยะที่อยู่ข้างทะเล เป็นขยะติดเชื้อหรือขยะอันตราย หากสักวันมันลงไปในทะเล แล้วฝรั่งก็จะเรียกภูเก็ตว่าเป็น garbage paradise สรวงสวรรค์ที่เต็มไปด้วยขยะโดยสถานการณ์ปริมาณขยะ 861 ตันต่อวัน ความสามารถในการเผาขยะอยู่ที่ 700 ตันต่อวัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวชัดเจน จีดีพีจำนวน 202,555 ล้านบาท งบประมาณของอปท. 10 กว่าแห่ง รวม 633 ล้านบาท คิดเป็น 0.31% นี่คือภาพจุลภาคในท้องถิ่น ที่ทำให้ตนกลับมา และสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษว่าถ้าเป็นในระดับชาติและมีการตั้งกรรมการวิสามัญเกิดขึ้น ควรที่จะจับประเด็นในระดับประเทศอย่างไร
นายพิธา กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตามสถานการณ์ภาพรวมของขยะในประเทศไทย น่าเป็นห่วงทุกระดับ ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าไม่สามารถลดขยะตั้งแต่ต้นทางที่มีถึง 63 ล้านตันได้ ก็ไม่สามารถดำเนินการในระยะกลางทางและปลายทางได้เลย ซ้ำยังเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ทั้งนี้ตนขอสนับสนุนให้มีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญขึ้นมาพิจารณาในเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง โดยขอเสนอ 5 ข้อเสนอ แบ่งเป็น ในระดับต้นทาง 1.ส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะที่ทำหน้าที่รับผิดชอบ 2.ออกพระราชบัญญัติการบริหารจัดการขยะและการหมุนเวียนทรัพยากร ครอบคลุมการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต ส่วนระดับกลางทาง 3. โอนอำนาจให้หน่วยงานส่วนท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการขยะตามความต้องการเช่น ซื้อรถเก็บขยะ ขณะที่ระดับปลายทาง 4.เพิ่มเติมงบสำหรับการดำเนินการบริหารจัดการขยะ และ5. ออกมาตรการด้านกองทุนฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนและสำหรับผู้รับบำบัดกำจัดขยะ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้ ทันทีที่นายพิธา เดินเข้ามาในห้องประชุม ส.ส. ได้ส่งสัญลักษณ์มินิฮาร์ทให้กับนักศึกษาที่เดินทางมาศึกษาดูงาน อาคารรัฐสภา โดยมาติดตามการประชุม ส.ส.ในห้องประชุมด้วย