"ไอติม"เห็นด้วย พท. ชงประชามติ 2 ครั้ง

2024-01-23 14:12:36

   "ไอติม"เห็นด้วย พท. ชงประชามติ 2 ครั้ง

Advertisement

 "ไอติม"เห็นด้วย พท. ชงประชามติ 2 ครั้ง เชื่อไม่ขัดคำวินิจฉัยศาล รธน. ย้ำต้องจับมือกันแน่น โน้มน้าว  ส.ว.ให้เห็นชอบ

เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 67 ที่รัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่ ส.ส. พรรคเพื่อไทย กว่า 120 คน ได้ร่วมกันยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ว่า ที่ผ่านมาสิ่งที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันคือ การทำประชามติครั้งที่ 2 และ 3 ถูกบังคับโดยรัฐธรรมนูญมาตรา 256 และคำวินิจฉัย 4/2564 ของศาลรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ดังนั้นข้อถกเถียงหลักจึงอยู่ที่การทำประชามติครั้งแรกจำเป็นหรือไม่ เนื่องจากมีการตีความคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่แตกต่างกัน บางฝ่ายมองว่าคำวินิจฉัยกำหนดให้ทำประชามติก่อน ส.ส.ร.จะมีการยกร่างรัฐธรรมนูญ ขณะบางฝ่าย โดยเฉพาะ ส.ว. มองว่าต้องทำประชามติก่อนที่จะมีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใดๆ เข้าสู่สภา

นายพริษฐ์ กล่าวว่า จุดยืนของพรรคก้าวไกล เห็นด้วยกับที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล ส.ส.บัญชีรายขื่อ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เสนอว่าตามหลักกฎหมายการทำประชามติ 2 ครั้งก็เพียงพอแล้ว พรรคก้าวไกลไม่ติดใจกับข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยพร้อมให้ความร่วมมือ ต่อไปนี้จะมีโจทย์สำคัญคือทั้ง 2 พรรค ต้องร่วมมือกันหาแนวทางโน้มน้าวให้สมาชิกรัฐสภาทุกส่วน โดยเฉพาะ สว.เห็นชอบกับการทำประชามติ 2 ครั้ง อีกโจทย์คือในเชิงรายละเอียด ทั้งรูปแบบและที่มาของอำนาจ ส.ส.ร. โดยพรรคก้าวไกลได้เตรียมร่างแก้ไขที่จะยื่นประกบกับร่างของพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีทั้งส่วนที่เหมือนกันและแตกต่างกัน ในส่วนที่เราเห็นด้วยกับพรรคเพื่อไทยคือ ส.ส.ร. ต้องมาจากการเลือกตั้ง 100% และกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้ที่ลงรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.ร. อยู่ที่ 18 ปี จุดที่เห็นต่างกับพรรคเพื่อไทยคือระบบเลือกตั้ง ความเชื่อมโยงระหว่าง ส.ส.ร.กับรัฐสภา และอำนาจของ ส.ส.ร. ในการแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ซึ่งจะใช้กลไกของรัฐสภา ในการหาข้อยุติความเห็นต่างเหล่านี้

"เรื่องนี้มีความเสี่ยงที่ศาลรัฐธรรมนูญ อาจวินิจฉัยจำนวนครั้งที่จะต้องทำประชามติมา จึงมั่นใจว่า ทังพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ยังยืนยันในหลักการ ว่าการทำประชามติ 2 ครั้ง เพียงพอแล้ว และหวังให้รัฐสภาหาทางออกกันเอง แต่ยังมีช่องให้คนที่เห็นแย้งยื่นเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญได้อยู่ ดังนั้น 2 พรรค ต้องจับมือกันให้แน่น เพื่อพยายามช่วยโน้มน้าวให้ ส.ว. รวมถึง ส.ส.จากบางพรรคที่ร่วมรัฐบาลอยู่ หันมาเห็นชอบ และพร้อมยกมือสนับสนุนการแก้ไขมาตรา 256 และ ส.ส.ร. โดยไม่ต้องทำประชามติก่อน” นายพริษฐ์ กล่าว