หมอจุฬาฯกังขาตัวเลขฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

2018-03-20 16:05:22

หมอจุฬาฯกังขาตัวเลขฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

Advertisement

“ศ.นพ.ธีระวัฒน์” สงสัยกรมปศุสัตว์ อ้างตัวเลขเกินจริงหรือไม่ กรณีทำหมัน ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์เลี้ยงได้ตามเป้า 70-80 % ทั้งที่วัคซีนก็น้อย คนฉีดก็ไม่พอ ชาวบ้านต้องฉีดเอง ถามกลับปีนี้ของบซื้อวัคซีนได้ 360 ล้านบาท แล้วในอดีตทำไมขอไม่ได้



เมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่รพ.จุฬาลงกรณ์ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ กล่าวในงาน “ตอบโจทย์สังคม โรคพิษสุนัขบ้า ตอนหนึ่งว่า วิกฤตโรคพาสุนัขบ้าตอนนี้เกิดจากการไม่สามารถควบคุมประชากรสุนัขได้ ทำให้การฉีดวัคซีนในสุนัขไม่ได้ตามเป้า แต่ที่ผ่านมามีการรายงานตัวเลขให้ได้ตามเป้าที่องค์การอนามัยโลก องค์การระบาดสัตว์ระหว่างประเทศกำหนด แต่ที่จริงไม่ได้เป็นตามนั้น เพราะถ้าบอกว่าทำหมันสุนัขได้ตามเป้า ฉีดวัคซีนได้ตามเป้าที่ร้อยละ 70-80 ทำไมยังมีโรคพิษสุนัขบ้าระบาดจำนวนมาก บางพื้นที่พบหัวสุนัขมีเชื้อพิษสุนัขบ้าสูงถึงร้อยละ 50 ตรงนี้เราไม่ได้กล่าวหา แต่ดูจากข้อมูลที่ประกาศจริง ซึ่งตั้งข้อสังเกตมาตั้งแต่ปี 2559 แล้วแต่เรื่องเงียบไป แล้วสรุปผลออกมาอย่างนุ่มนวล



ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวต่อว่า และอีกประเด็นหนึ่งเรื่องของวัคซีนในสัตว์นั้นมีจำนวนเพียงพอหรือไม่ มีคุณภาพพอหรือไม่ เพราะช่วง 2-3 ปีที่มีการทำลายวัคซีนที่ใช้ในสุนัข และแมวมีปัญหาเรื่องคุณภาพ และมีการทำลายไปแล้วนั้นก็มีคำถามว่าแล้วครั้งนั้นใช้วัคซีนจากไหน จากประเทศเพื่อนบ้านหรือเปล่า เรื่องบุคลากรที่ฉีดก็เช่นกันต้องยอมรับว่าไม่พอ แล้วเอาใครที่ไหนไปฉีดถึงได้ความครอบคลุมถึงร้อยละ 80 ซึ่งจากข้อมูลพบว่ามีการเอาวัคซีนไปให้ชาวบ้านเพื่อฉีดเอง





“เชื่อว่าเรื่องการทำหมัน ฉีดวัคซีนมีการโกงตัวเลขหรือไม่ และสงสัยว่ามีการหักเหงบประมาณหรือไม่ อย่างไร ซึ่งวัคซีนทุกชนิดทั้งในคน ในสัตว์ต้องผ่าน อย.ให้ประเมินคุณภาพ ไม่ใช่แค่ดูใบรับรองจากประเทศต้นทาง เท่าที่ทราบมีการส่งวัคซีนตรงไปยังกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องถามว่าเรื่องเกิดที่ไหน ใครสั่งตรงเข้ามา เรื่องนี้ก็คล้ายกับคดีหวย 30 ล้านบาท ความมาแตกก็มีการอธิบายต่างๆ ถ้าจะโยนความผิดก็ต้องมีข้อมูล บอกว่าเพราะ สตง.สั่งห้าม ซึ่งเหตุผลเพราะตรวจเจอวัคซีนที่ไม่ได้มาตรฐาน และคำถามคือในช่วงที่สั่งห้ามก็ยังมีอีกหลายวิธีในการแก้ปัญหา แล้ว 2-3 ปีที่ผ่านมาทำอะไร ตอนนี้บอกว่าของบซื้อวัคซีนได้ 360 ล้านบาท แล้วตอนนั้นทำไมขอไม่ได้ ซึ่งวันนี้ได้ข้อมูลจากสัตวแพทย์อย่างน้อย 5 คน ยอมรับว่าวัคซีนในสัตว์ขาด”ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว



ส่วนเรื่องการเก็บภาษีผู้เลี้ยงสุนัขนั้น ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ ประเทศไทยยังไม่ถึงเวลาที่จะทำแบบนั้น เพราะจะยิ่งทำให้คนที่ให้ข้าว ให้น้ำสุนัขในชุมชน ละทิ้งให้เป็นสุนัขจรจัดแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ถ้าจะให้แก้ปัญหาได้ต้องยอมรับความจริงว่าบกพร่องตรงไหน และบูรณาการการทำงานอย่างชัดเจนทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมปศุสัตว์ และเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นควรเอาจริง ไม่ใช่นุ่มนวล หรือเบี่ยงประเด็น และการทำหมันลดประชากรสุนัขและแมว โดยใช้ ซิงค์กลูโคเนต ฉีดใส่ไข่ของสุนัขตัวผู้ เพื่อไปทำให้ท่อทางเดินของเชื้อในลูกอัณฑะตีบ ค่าใช้จ่ายตก 8 บาทต่อหลอดเท่านั้น ซึ่งวิธีนี้มีการใช้ในพื้นที่จ.สมุทรปราการแล้วช่วยลดประชากรสุนัขจรจัดลง มีคุณภาพชีวิตดี ไม่ต้องเจ็บทรมานจากแผล





ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า นอกจากนี้ เรื่องการประกาศพื้นที่สีแดง เขียว เหลือง ก็เป็นปัญหา เพราะประชาชนเชื่อทางการมาก หากบอกเป็นพื้นที่สีเขียว เวลามีสัตว์ป่วยตายเขาก็เอามากิน ถ้าบอกพื้นที่สีแดงก็ไม่กิน แต่ฝังกลบอย่างดี ปีที่แล้วมีชาวบ้านกินวัวที่ตายเพราะพิษสุนัขบ้าต้องไปฉีดวัคซีนเป็นร้อยคน ดังนั้นประเทศไทยตอนนี้ควรประกาศเป็นพื้นที่เสี่ยงทั้งหมด เพราะตราบใดที่ยังควบคุมประชากรสุนัขและแมวไม่ได้ ฉีดวัคซีนไม่ได้ตามเป้าก็เสี่ยงทั้งหมด และไม่ใช่ดูแค่เดือนเดียวแล้วบอกว่าปลอดโรค แต่ต้องติดตามต่อเนื่องทุก 6 เดือน ถ้าจะปลอดจริงๆ คือต้องไม่มีเลยตลอด 2 ปี จากนโยบายจังหวัดปลอดโรคนั้นพอมีปัญหาทางจังหวัดก็ไม่กล้ามาตรวจ กลัวว่าจะเจอแล้วทำให้จังหวัดเสียคะแนน ดังนั้นการจะยกย่องจังหวัดใดเป็นพื้นปลอดโรคไม่ใช่ไปเชิดชูจังหวัดที่ไม่มีคนป่วยหรือเสียชีวิตเลย แต่ควรยกย่องจังหวัดที่ดูแลเข้มข้น จากที่เคยปรากฏโรคก็กลับไม่มี แบบนี้ถึงจะเรียกเอาจริง



ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวด้วยว่า สำหรับคนที่ถูกสัตว์กัด ข่วน เลีย ขอให้ทำทำความสะอาดแผลและไปรับวัคซีนป้องกันโรค และขณะนี้อยู่ระหว่างรอให้กระทรวงสาธารณสุขเพิจารณาโปรแกรมฉีดวัคซีนใหม่ และการให้เซรุ่มเท่าที่จำเป็นกรณีที่เกิดบาดแผลมีเลือด ตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำด้วย ซึ่งตัวเซรุ่มจะเข้าที่บาดแผลเพื่อช่วยไปกดเชื้อและทำลายเชื้อบางส่วน ระหว่างรอให้วัคซีนที่ฉีดเข้าไปสร้างภูมิคุ้มกันซึ่งใช้เวลาประมาณ 10 วัน