กมธ.งบประมาณโยนจัดซื้อเรือดำน้ำให้อนุ กมธ.พิจารณา แนะกองทัพลดขนาด คงความทันสมัย
เมื่อวันที่ 18 ม.ค.67 ที่รัฐสภา นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 แถลงผลการพิจารณาร่าง พร.บ.งบประมาณ ว่า ความคืบหน้าในการพิจารณามีหน่วยงานต่าง ๆ ที่ผ่านการพิจารณารวมงบกลาง 11 รายการ 42 หน่วยงาน 3 กองทุน คิดเป็น 7.16% ซึ่งวานนี้(17ม.ค.) มีการพิจารณาประมาณของกระทรวงกลาโหม ที่ประกอบไปด้วย 6 หน่วยงาน คือสำนักปลัดกระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ มีหลายประเด็นที่น่าสนใจและกรรมาธิการฯได้ให้ข้อสังเกตคือ กองทัพควรมีขนาดเล็กลงและมีความทันสมัยในหลายหลายด้าน ตามภารกิจความมั่นคงที่จะเปลี่ยนแปลงไป และเพื่อให้มีงบประมาณเหลือมากเพียงพอสำหรับภารกิจของกองทัพอย่างแท้จริง ซึ่งควรพิจารณาปรับรถไปถึงบางตำแหน่งที่ไม่มีความจำเป็น เช่น ตำแหน่งที่ปรึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ
นายภราดร กล่าวต่อว่า สำหรับการจัดซื้อยุทโธปกรณ์โดยเสนอแนะว่ากองทัพควรจัดซื้อภายใต้นโยบายจะซื้อแบบชดเชย หรือ Offset Policy หรือได้ซื้อเทคโนโลยีมาด้วยเพื่อนำมาซึ่งความรู้ในการพัฒนาและผลิตอาวุธด้วยตัวเองต่อไปในอนาคตที่จะสามารถประหยัดงบประมาณของประเทศในระยะยาว และแนะให้นำความผิดพลาดในการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ในอดีตมาเป็นบทเรียนเพื่อนำมากำหนดแนวทางการจัดซื้ออาวุธที่จำเป็นของกองทัพที่ความโปร่งใส และเพิ่มสัดส่วนการจัดซื้ออาวุธที่พัฒนาและผลิตภายในประเทศในระยะเวลา 10 ปีเพื่อเป็นการสร้างอุตสาหกรรมทางการทหารให้มีความเข้มแข็งโดยหยิบยกกองทัพของเกาหลีใต้มาเป็นตัวอย่างชี้เห็นที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการเป็นผู้ผลิต ส่วนงบประมาณในการจัดซื้อเรือดำน้ำกมธ.ให้ไปคุยในรายละเอียดอีกครั้งในชั้นอนุ กมธ.ต่อไป และ กมธ.มีการพูดคุยกันเรื่องของการประกอบธุรกิจกองทัพซึ่งต่างก็ให้ความสำคัญพร้อมกับให้ข้อสังเกตว่าควรมีการชี้แจงให้มากขึ้น กรณีการทำบัญชีรายรับรายจ่าย และชี้แจงต่อสังคม
นายภราดร กล่าวด้วยว่า สำหรับในวันนี้(18 ม.ค.) เป็นการพิจารณาในรายมาตรา ได้แก่ กระทรวงการคลังมาตรา 40 แผนงานบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ และมาตรา 41 รายจ่ายเพื่อชดเชยเงินคงคลัง โดยอาจจะพิจารณาไม่แล้วเสร็จในวันนี้ และนำไปพิจารณาต่อในพรุ่งนี้ (19ม.ค.)