สงครามกลางเมืองในซีเรีย ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2554 ครบ 7 ปีในเดือนมีนาคม และเริ่มย่างเข้าสู่ปีที่ 8 ท่ามกลางซากปรักหักพังของบ้านเมือง คราบน้ำตา และกองเลือดของผู้คนที่เสียชีวิตแล้วกว่า 5 แสนศพ โดยเฉพาะมีชีวิตเด็ก ๆ ด้วยตายเป็นใบไม้ร่วง วันนี้ จะพาไปย้อนรอยดูพัฒนาการสงครามกลางเมืองซีเรีย ตั้งแต่เริ่มต้น จนถึงปัจจุบันที่ยังรบกันดุเดือด ทั้ง ๆ ที่มีข้อตกลงหยุดยิง ที่เป็นเพียงแค่ข้อตกลงลม ๆ แล้ง ๆ
การลุกฮือขับไล่ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ผู้นำซีเรียอย่างสงบ เมื่อ 7 ปีก่อน บานปลายกลายเป็นสงครามกลางเมืองเต็มรูปแบบ ความขัดแย้งครั้งนี้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 350,000 คน, บ้านเมืองถูกทำลายล้าง หลายแห่งเหลือแต่ซาก และยังกระชากลากเอาอีกหลายประเทศ เข้ามาร่วมในวังวนของการเข่นฆ่าอย่างหฤโหดครั้งนี้ด้วย
ก่อนเริ่มต้นของความขัดแย้ง ชาวซีเรียจำนวนมากมีความทุกข์อกทุกข์ใจเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จากปัญหาการว่างงานสูง, คอร์รัปชั่น และการขาดเสรีภาพทางการเมืองภายใต้การบริหารประเทศของอัสซาด ซึ่งสืบทอดตำแหน่งต่อจากนายฮาเฟซ บิดาผู้ล่วงลับ ในปี 2543 ส่งผลให้หัวใจแต่ละดวงของชาวซีเรียต่างโหยหาเสรีภาพและเพรียกหาประชาธิปไตย
ในเดือนมีนาคม 2554 การชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยก็ปะทุขึ้นในเมืองเดรา ทางภาคใต้ของประเทศ โดยได้รับแรงบันดาลใจจากปรากฏการณ์ "อาหรับ สปริง" ในหลายประเทศเพื่อนบ้าน ที่ประชาชนลุกขึ้นมาขับไล่ผู้นำเผด็จการ ฉ้อฉลออกไปได้สำเร็จ แต่กลับไม่ง่ายสำหรับซีเรีย เมื่อรัฐบาลเล่นของแข็ง ใช้กองทัพบดขยี้ผู้มีความเห็นต่าง และเหตุการณ์ลุกลาม กลายเป็นการประท้วงทั่วประเทศเรียกร้องให้อัสซาดลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี
ความวุ่นวายขยายวงกว้างอย่างรวดเร็ว พร้อม ๆ กับการวาดล้างจากฝ่ายรัฐบาลก็เข้มข้นขึ้นตามลำดับ กลุ่มผู้สนับสนุนฝ่ายค้านไม่มีทางเลือกอื่น ต้องจับอาวุธขึ้นสู้ เบื้องต้นเพื่อป้องกันตนเอง แต่ในเวลาต่อมาเพื่อป้องกันพื้นที่ของพวกเขาให้รอดพ้นจากกองกำลังรักษาความมั่นคงของรัฐบาล ประธานาธิบดีอัสซาด ลั่นวาจาจะบดขยี้ สิ่งที่เขาอ้างว่า "กลุ่มก่อการร้ายที่มีต่างชาติหนุนหลัง"
ความรุนแรงฉุดไม่อยู่ ยิ่งกว่าไฟลามทุ่ง ไม่นานทั่วประเทศก็ดำดิ่งเข้าสู่สงครามกลางเมืองเต็มรูปแบบ
กลุ่มสังเกตการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในซีเรีย ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในอังกฤษ เป็นกลุ่มตรวจสอบสงครามที่มีเครือข่ายอยู่ในพื้นที่ บอกว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากสงครามในซีเรียเมื่อถึงเดือนมีนาคม 2561 อยู่ที่ 353,900 คน ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นพลเรือน 106,000 คน แต่จำนวนนี้ ไม่ได้รวมถึงอีก 56,900 คน ที่มีรายงานว่าสูญหาย หรืออาจเสียชีวิตไปแล้ว นอกจากนี้ กลุ่มสังเกตการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนฯ ก็ประเมินด้วยว่า มีผู้เสียชีวิตอีก 100,000 คน ที่ไม่ได้มีการบันทึกไว้
ขณะเดียวกัน ศูนย์บันทึกความรุนแรงในซีเรีย หรือวีดีซี ซึ่งเป็นเครือข่ายนักเคลื่อนไหวในซีเรีย ก็ได้บันทึกสิ่งที่พวกเขาพิจารณาแล้วว่าเป็นการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และกฎหมายมนุษยชน ซึ่งรวมทั้งการโจมตีพลเรือน โดยระบุว่า มีผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวกับการต่อสู้ 185,980 คน รวมทั้งพลเรือน 119,200 คน เมื่อถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2561 เมื่อรวมตัวเลขผู้เสียชีวิตทั้งหมด น่าจะสูงกว่า 5 แสนคนแล้ว
มาถึงวันนี้ มันเป็นมากกว่าการต่อสู้ระหว่างนักรบกลุ่มที่สนับสนุน หรือต่อต้านนายอัสซาดแล้ว หลายกลุ่มและหลายประเทศ ซึ่งแต่ละฝ่ายก็มีวาระซ่อนเร้นของตนเอง เข้ามามีเอี่ยวด้วย ทำให้สถานการณ์ตอนนี้ อีลุงตุงนัง ซับซ้อนมากขึ้น และการต่อสู้ก็ยิ่งยืดเยื้อเรื้อรังมากขึ้นไปอีก พวกเขาถูกกล่าวหาว่าสร้างความเกลียดชังระหว่างศาสนาในซีเรีย โดยปั่นหัวชาวมุสลิมสุหนี่ที่เป็นชนกลุ่มใหญ่ของซีเรีย ให้ต่อต้านลัทธิอะละวี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมุสลิมชีอะห์ ที่นายอัสซาดนับถืออยู่ ความแตกแยกเช่นนี้ นำไปสู่การเข่นฆ่าโหดร้ายของทั้งสองฝ่าย ทำให้ชุมชนหลายแห่งเกิดความแตกแยก และดับความหวังในการสร้างสันติภาพ ความขัดแย้งของพวกเขาก็ทำให้เกิดกลุ่มนักรบศักดิ์สิทธิ์ ที่ว่ากันว่ากัน โหดที่สุด ฆ่าชนิดตาไม่กระพริบ นั่นคือ นักรบรัฐอิสลาม หรือไอเอส และกลุ่มอัลกออิดะห์ ก็ขยายตัวมากขึ้น
นอกจากนี้ ชาวเคิร์ดในซีเรีย ซึ่งต้องการได้สิทธิในการปกครองตนเอง แต่ไม่ได้ต่อสู้กับกองกำลังของนายอัสซาด ก็เข้ามาเติมเชื้อความขัดแย้งด้วย
เรามาดูว่า มีมหาอำนาจหน้าไหนบ้างที่เข้ามาพัวพันกับสงครามกลางเมืองในซีเรีย จนมั่วกันไปหมดอยู่ในขณะนี้ โดยผู้สนับสนุนสำคัญของรัฐบาลซีเรีย ประกอบด้วยรัสเซียและอิหร่าน ขณะที่ สหรัฐ, ตุรกี และซาอุดีอาระเบีย สนับสนุนฝ่ายกบฏที่ต่อต้านรัฐบาลซีเรีย
รัสเซีย ซึ่งมีฐานทัพอยู่ในซีเรีย เริ่มปฏิบัติการโจมตีทางอากาศเพื่อสนับสนุนนายอัสซาดในปี 2558 ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของสงคราม ทำให้ฝ่ายรัฐบาลของอัสซาด กลับมาได้เปรียบอีกครั้ง หลังจากกำลังจะเพลี่ยงพล้ำไปก่อนหน้าที่รัสเซียจะยื่นมือเข้ามาช่วย กองทัพรัสเซียแถลงว่า พวกเขาโจมตีเฉพาะเป้าหมายกลุ่ม "ก่อการร้าย" แต่นักเคลื่อนไหว บอกว่า ไม่ใช่เลย รัสเซียยิงจรวด ทิ้งระเบิดสังหารกลุ่มกบฏและพลเรือนต่างหาก ส่วนอิหร่านเอง ก็เชื่อกันว่า ส่งทหารหลายร้อยนาย และทุ่มเทเงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อช่วยเหลือนายอัสซาด กลุ่มนักรบติดอาวุธชาวชีอะห์หลายพันคน ซึ่งได้รับการฝึกและได้เงินสนับสนุนจากอิหร่าน ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มเฮซบอลลาห์ ในเลบานอน แต่ก็มีนักรบจากอิรัก, อัฟกานิสถาน และเยเมน ทะลักเข้าซีเรียต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับกองทัพของนายอัสซาดด้วย
ขณะที่ สหรัฐ, อังกฤษ, ฝรั่งเศส และชาติตะวันตกอื่น ๆ ก็ให้การสนับสนุนกบฏ ที่พวกเขาพิจารณาและเชื่อแล้ว่า เป็นกบฏ "สายกลาง" นอกจากนี้ กองกำลังพันธมิตรที่ชาติตะวันตกเป็นผู้นำ ก็โจมตีทางอากาศนักรบไอเอสในซีเรียด้วยตั้งแต่ปี 2557 คู่ขนานไปด้วยการช่วยเหลือนักรบชาวเคิร์ดและอาหรับ ที่เรียกตัวเองว่า กองกำลังประชาธิปไตยซีเรีย หรือเอสดีเอฟ เพื่อยึดดินแดนกว้างใหญ่ไพศาลคืนจากนักรบไอเอส
ด้านตุรกี ถือเป็นผู้เล่นสำคัญอีกชาติหนึ่งที่สนับสนุนกบฏซีเรียมานาน แต่ก็มุ่งใช้กบฏกลุ่มนี้เป็นแขนขาเพื่อให้กำราบนักรบชาวเคิร์ด ซึ่งก็เป็นพวกเดียวกับกองกำลังเอสดีเอฟ ที่ชาติตะวันตกให้การสนับสนุน ตุรกีกล่าวหากลุ่มนี้ว่าแยกตัวออกจากกบฏชาวเคิร์ดต้องห้ามในตุรกี
มาดูซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นคู่กัดกับอิหร่าน ต้องการสกัดกั้นอิทธิพลของอิหร่านทุกรูปแบบเช่นกัน จึงทำให้ต้องอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลซีเรีย ให้การสนับสนุนทั้งด้านอาวุธและการเงินต่อฝ่ายกบฏ ขณะที่ อิสราเอลก็แสดงความกังวลกรณีอิหร่านส่งอาวุธให้กลุ่มเฮซบอลลาห์ ในซีเรีย ก็จัดการโจมตีทางอากาศเพื่อทำลายอาวุธ พยายามสกัดไม่ให้อาวุธเหล่านี้ ตกไปถึงมือเฮซบอลลาห์ ซึ่งก็เป็นศัตรูคู่แค้นของอิสราเอลเช่นกัน มาถึงตอนนี้ ทำให้สถานการณ์พัวพันยุ่งเหยิงและซับซ้อน
นอกจากจะทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากมายก่ายกองแล้ว สงครามกลางเมืองในซีเรียยังทำให้ประชาชนอย่างน้อย 1.5 ล้านคน กลายเป็นผู้พิการถาวร ซึ่งในจำนวนนี้ มีถึง 86,000 คน ที่ต้องสูญเสียทั้งแขนและขาอย่างน่าสลดหดหู่ ยังมีชาวซีเรียอย่างน้อย 6.1 ล้านคน ไร้ที่อยู่อาศัยในประเทศตัวเอง ขณะที่อีก 5.6 ล้านคน ต้องอพยพหนีตายออกนอกประเทศ พลัดบ้านพลัดถิ่น ไปอาศัยอยู่ในหลายประเทศเพื่อนบ้านอย่างอด ๆ อยาก ๆ ทั้งเลบานอน, จอร์แดน และตุรกี เป็นการหลั่งไหลของผู้อพยพจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่
ยูเอ็น ประเมินว่า มีประชาชนถึง 13.1 ล้านคน ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในซีเรียในปี 2561 นี้ ขณะที่ ฝ่ายที่เกี่ยวของในสงคราม ก็ยิ่งซ้ำเติมปัญหาให้เลวร้ายมากขึ้น ด้วยการปฏิเสธหน่วยงานบรรเทาทุกข์ ไม่ให้เข้าไปในพื้นที่เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ต้องการ ซึ่งขณะนี้ มีประชาชนเกือบ 3 ล้านคน อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ถูกปิดล้อม หรือในพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยาก จึงเป็นไปไม่ได้ที่เจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือได้โดยที่ไม่ได้รับอนุญาต ขืนเข้าไปสุ่มสี่สุ่มห้า ถูกโจมตีอีก มีบางครั้งที่หนีแทบไม่ทัน แม้แต่ชีวิตของเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ยังเสี่ยง แล้วชีวิตประชาชนตาดำ ๆ ในพื้นที่ขัดแย้งล่ะ ? ซ้ำร้ายไปกว่านี้ ชาวซีเรียแถบไม่สามารถเข้าถึงการบริการด้านสาธารณสุขเลย จะบาดเจ็บ หรือล้มป่วย ก็ยากที่จะมีแพทย์รักษา อยู่กันตามยถากรรม บางคนก็ต้องตายไปต่อหน้าต่อตา หรือเด็กบางคนก็ตายในอ้อมกอดผู้เป็นพ่อแม่
เจ้าหน้าที่แพทย์ของกลุ่มสิทธิมนุษยชน บันทึกว่า มีการยิงจรวดและทิ้งระเบิดโจมตี 492 ครั้ง ถล่มสถานพยาบาล หรือโรงพยาบาล จำนวน 330 แห่ง ภายในสิ้นเดือนธันวาคม 2560 ส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์เสียชีวิตไปถึง 847 คน ทำให้ไม่มีโรงพยาบาล ไม่มีเครื่องมือแพทย์ และไม่มีแพทย์ที่จะดูแลรักษาประชาชน
ซีเรียขึ้นชื่อว่าร่ำรวยแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมแห่งหนึ่งของโลก แต่แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมจำนวนมากก็ถูกทำลายเสียหายอย่างน่าเสียดาย บางแห่งถูกวางระเบิดราบเป็นหน้ากลอง เหลือแต่ซากไว้ให้ดูต่างหน้า อย่าคิดว่าจะบูรณะให้กลับมามีสภาพเหมือนเดิมได้ และในจำนวนนี้ สถานที่ทั้งหมด 6 แห่งในซีเรีย ที่องค์การยูเนสโก ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ก็ถูกทำลายย่อยยับเช่นกัน
จากการประเมินของยูเอ็น พบว่า อาคารบ้านเรือนถึงร้อยละ 93 ได้รับความเสียหายบางส่วน หรือถูกทำลายทั้งหมด ในภูมิภาคกูตาตะวันออก พื้นที่ยึดครองของฝ่ายกบฏ ใกล้กรุงดามัสกัส เมืองหลวงซีเรีย
รัฐบาลซีเรียบุกยึดหลายเมืองใหญ่คืนจากฝ่ายกบฏได้ แต่หลายพื้นที่ของประเทศ ก็ยังคงตกอยู่ภายใต้การยึดครองของกลุ่มกบฏและกลุ่มแนวร่วม เอสดีเอฟ ซึ่งนำโดยชาวเคิร์ด
ฐานที่มั่นของฝ่ายค้านใหญ่สุด คือจังหวัดอิดลิบ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ซึ่งมีประชากรมากกว่า 2.6 ล้านคน แม้ว่าจะมีการกำหนดพื้นที่ "ปลอดความรุนแรง"" แต่จังหวัดอิดลิบก็เป็นสมรภูมิใหญ่สุดของรัฐบาล ซึ่งบอกว่ากำลังโจมตีเป้าหมายนักรบศักดิ์สิทธิ์ ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะห์ นอกจากนี้ กองทัพรัฐบาลซีเรีย ก็ยังเปิดศึกโจมตีภาคพื้นที่ในเมืองกูตาตะวันออก ซึ่งมีประชาชน 393,000 คน ถูกปิดล้อมโดยกองกำลังฝ่ายรัฐบาล ตั้งแต่ปี 2556 และกำลังเผชิญหน้ากับการทิ้งระเบิดโจมตีอย่างหนักหน่วง ส่งผลให้เกิดปัญหาขาดแคลนอาหารและยารักษาโรคขั้นวิกฤต
ขณะเดียวกัน กองกำลังเอสดีเอฟ ก็ครอบครองดินแดนส่วนใหญ่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำยูเฟรติส ซึ่งรวมทั้งเมืองรักกา ทั้งนี้ เมืองรักกา คือเมืองที่กลุ่มไอเอส สถาปนาให้เป็นเมืองหลวงของพวกเขา ในช่วงที่เริ่มสงครามกลางเมืองซีเรีย และไอเอสบุกยึดหลายเมืองในซีเรียและอิรัก พร้อมประกาศใช้หลักศาสนาอิสลาม เป็นกฎหมายปกครอง จนถึงปี 2560 ก่อนถูกกวาดล้าง แต่ไอเอสก็ยังยึดครองดินแดนในซีเรียอยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้นในขณะนี้
สถานการณ์จนถึงวันนี้ ดูเหมือนว่า จะยังไม่ใช่เวลาแก้ปัญหา แต่ทุกคนก็ตกลงเห็นด้วยที่จะต้องแก้ปัญหาทางการเมือง
คณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น เรียกร้องให้ปฏิบัติตามแถลงการณ์เจนีวาปี 2555 ซึ่งกำหนดให้จัดตั้งองค์กรถ่ายโอนอำนาจรัฐบาลซีเรีย บนพื้นฐานของความพอใจของทุกฝ่าย แต่การเจรจาสันติภาพที่มียูเอ็นเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย ผ่านมา 9 รอบแล้ว ตั้งแต่ ปี 2557 มีความคืบหน้าน้อยมาก ประธานาธิบดีอัสซาด ดูเหมือนว่า ไม่มีอารมณ์ที่จะเจรจากับฝ่ายกบฏ เพราะฝ่ายกบฏยังยืนยันว่า อัสซาดต้องลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาประเทศ แต่แค่ยื่นข้อเสนอ อัสซาดก็ไม่เล่นด้วยแล้ว
ขณะเดียวกัน มหาอำนาจตะวันตก ก็กล่าวหารัสเซีย พันธมิตรใกล้ชิดของอัสซาดว่า "ปากว่าตาขยิบ" บ่อนทำลายการเจรจาสันติภาพ ด้วยการจัดตั้งกระบวนการทางการเมืองแบบคู่ขนาน โดยรัสเซียจัดการเจรจาสันติภาพซีเรีย ในกรุงอัสตานา ประเทศคาซัคสถาน ในเดือนมกราคม 2561 แต่ตัวแทนฝ่ายค้านปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการประชุม เพราะรัสเซียอยู่ข้างรัฐบาลซีเรีย ประชุมไปก็เท่านั้น
สงครามซีเรีย จะยังคงยืดเยื้อต่อไปอีกสักระยะ พร้อมกับตัวเลขผู้เสียชีวิตที่พุ่งทะยาน ลุ้นกันต่อไปว่า จะลงเอยอย่างไร เพราะที่ผ่านมาก็เละไม่มีชิ้นดี