“พรเพชร”ส่งร่าง ก.ม.ลูก ส.ว.ให้ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว

2018-03-19 13:40:29

“พรเพชร”ส่งร่าง ก.ม.ลูก ส.ว.ให้ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว

Advertisement

ประธาน สนช. ส่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว พร้อมส่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ให้นายกรัฐมนตรีตามขั้นตอน มั่นใจ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

เมื่อวันที่ 19 มี.ค. ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ว่า ได้ลงนามส่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว เมื่อเวลา 09.00 น.ของวันนี้ โดยมีสมาชิกสนช.ร่วมลงชื่อทั้งหมด 30 คน ส่วนร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ตนจะส่งร่างฉบับนี้ไปยังนายกฯ ในวันนี้เพื่อดำเนินการต่อไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญต่อไป



นายพรเพชร กล่าวต่อว่า ส่วนที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ตั้งข้อสังเกตเรื่องการตัดสิทธิผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่จะไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็นข้าราชการการเมือง เป็นหลักการที่ถูกต้องแล้วในการส่งเสริมให้บุคคลตระหนักถึงหน้าที่ไปลงคะแนนเลือกตั้ง ตำแหน่งข้าราชการการเมืองมีจำนวนน้อยจึงกระทบบุคคลในวงแคบมาก ส่วนประเด็นการให้คนพิการมีบุคคลช่วยเหลือในการลงคะแนนเสียงในคูหาเลือกตั้งนั้น ควรมีการช่วยเหลือให้การใช้สิทธิมีความสมบูรณ์ถูกต้อง คำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญที่ กรธ.อ้างมานั้นไม่อาจนำมาปรับใช้ได้กับการช่วยเหลือคนพิการตามร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. เนื่องจากการช่วยเหลือคนพิการมีคนรู้การลงคะแนนเพิ่มอีกคนเดียว ไม่ใช่การเปิดเผยต่อสาธารณชน หากมีการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ จะส่งผลให้การประกาศใช้ช้าไปกว่าเดิมประมาณ 2 เดือน แม้เป็นระยะเวลาไม่นานนัก แต่เมื่อสมาชิก สนช.มีความเชื่อมั่นว่า ประเด็นดังกล่าวไม่มีปัญหา

นายพรเพชร กล่าวต่อว่า ส่วนความห่วงใยหากมีผู้ไปยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายหลังอาจมีผลกระทบต่อโรดแม็ปนั้น ในกรณีการตัดสิทธิการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งนั้น หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจว่าเป็นโมฆะจะมีผลคือ ผู้ถูกตัดสิทธิจะได้รับสิทธินั้นคืนโดยไม่ต้องแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ดังนั้นจึงไม่กระทบโรดแม็ป สำหรับประเด็นการให้ผู้พิการมีผู้ช่วยเหลือในคูหาเลือกตั้งนั้น หากมีความกังวลว่าจะขัดรัฐธรรมนูญ ผู้ได้รับผลกระทบควรใช้สิทธินี้เมื่อร่างกฎหมายดังกล่าวประกาศในราชกิจจานุเบกษา หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นโมฆะผลที่เกิดขึ้นคือ สิทธิของผู้พิการที่ได้รับความช่วยเหลือจะหายไป ไม่จำเป็นต้องแก้ไขร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวจะมีผลกระทบหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประเด็นนี้เป็นโมฆะ โดยหลังจากการเลือกตั้งผ่านพ้นไปแล้วอาจมีผลต่อการนับคะแนนได้ ดังนั้น ผู้เกี่ยวข้องที่เห็นว่าบทบัญญัตินี้อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญจึงควรยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแต่เนิ่นๆ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง