"ดิเรกฤทธิ์" เผย ส.ว. มากกว่า 1 ใน 3 เห็นด้วยเปิดอภิปรายทั่วไปรัฐบาล แย้มมีสารพัดปมคาใจทั้งแก้ รธน. กระบวนการยุติธรรม เลือกปฏิบัติ
เมื่อวันที่ 8 ม.ค.67 ที่รัฐสภา นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ส.ว.ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน คนที่ 3 วุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ถึงการที่ กมธ.พัฒนาการเมือง เตรียมพิจารณาขอเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา153 ต่อรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ว่า การอภิปรายทั่วไประบุไว้อยู่แล้วว่าไม่ใช่เฉพาะเรื่อง ถือเป็นสิทธิ และอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ เมื่อรัฐบาลได้รับความไว้วางใจจากทั้ง ส.ส. ส.ว. เข้ามาบริหารประเทศ ดำเนินการนโยบายต่างๆ ก็เป็นหน้าที่โดยตรงของฝ่ายนิติบัญญัติที่จะให้ความสนใจ สอบถามความชัดเจนตามรัฐธรรมนูญที่ระบุ เพื่อให้รัฐบาลมาชี้แจงเรื่องต่างๆที่ทำไป รวมถึง ส.ว. สามารถเสนอแนะความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และรัฐบาลเอง เพราะหลายๆเรื่องที่ประชาชนคลางแคลงสงสัย นายกรัฐมนตรี ครม. หรือฝ่ายที่เกี่ยวข้อง สามารถใช้สภาฯอธิบายผ่านผู้แทนฯได้ ตนคิดว่าจะได้ประโยชน์กับทุกฝ่าย
เมื่อถามว่า รัฐบาลเพิ่งจะเข้ามาทำงาน 4เดือน ส.ว. มองเห็นแล้วหรือใช่หรือไม่ว่าจะหยิบยกนโยบายใดมาอภิปราย เนื่องจากบางนโยบายฯยังไม่ได้มีการดำเนินการ โดยเฉพาะนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า นี่คือประเด็นปัญหา ทั้งเรื่องที่ขยับแล้ว หรือยังไม่ขยับ ก็เป็นประเด็น ถ้าเรามองภาพกว้าง เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่อยากให้มีการแก้ไขทั้งฉบับ มีการทำประชามติ ก็มีปัญหาหลายประเด็น เช่น ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ วิธีการ ความจำเป็น ขอบเขตที่จะแก้ไข รวมถึงที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) ที่จะให้สส.มายกร่างรัฐธรรมนูญ หรือแม้กระทั่งการบังคับใช้กฎหมาย อาทิ กระบวนการยุติธรรมที่ไม่โปร่งใส ไม่รวดเร็ว ยังไม่ได้อธิบายต่อประชาชนให้เข้าใจ ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นความคาดหวังของประชาชน นอกจากนี้ยังมีเรื่องความเหลื่อมล้ำ การเลือกปฏิบัติ อีกด้วย วุฒิสภาเองก็มีคณะกรรมาธิการฯ26คณะ มีประชาชนมาร้องเรียน นำปัญหาและคำถามเข้ามาผ่านกรรมาธิการมากมาย นอกจากนั้น ส.ว. ชุดปัจจุบัน ที่ยังทำหน้าที่อยู่ มีเรื่องที่เราทำมาอย่างต่อเนื่อง 4-5 ปี คือเรื่องการปฏิรูปประเทศ เป็นเรื่องที่ใหญ่มาก เราอยากเปลี่ยนแปลงประเทศในเรื่องที่สำคัญ การขับเคลื่อนผ่านรัฐบาลชุดที่ผ่านมาก็ยังไม่สำเร็จ อยากรู้ว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันให้ความสำคัญกับทิศทาง และวิธีการเหล่านี้อย่างไร ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงก็จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชน
นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวต่อว่า หลายๆรัฐบาลที่ผ่านมา เวลามีกระทู้ถามด้วยวาจา หรือเป็นหนังสือ รวมถึงหารือความเดือดร้อนของประชาชนไปยังฝ่ายบริหาร บางครั้งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีก็ไม่มาตอบ ตรงนี้เป็นผลเสียของรัฐบาลเอง ที่มีเวทีแล้วไม่มาชี้แจง เป็นผลเสียต่อประชาชนที่ไม่เข้าใจการทำงานของรัฐบาล ดังนั้น การมีรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 จึงเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย
เมื่อถามว่า กระบวนการการบังคับใช้กฎหมายที่ยังไม่โปร่งใส สามารถยกตัวอย่างได้หรือไม่ นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า มีหลายประเด็น ทั้งกระบวนการยุติธรรม ทางแพ่ง ทางอาญา ทางปกครอง ที่ยังมีคดีต่างๆ ค้างอยู่มากมาย เช่น กระบวนการบริหารโทษในกรมราชทัณฑ์ว่า ทำไมถึงมีบางคนถูกเลือกปฏิบัติต่างจากประชาชนทั่วไป ประเด็นนี้สามารถอธิบายได้ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่อยู่ ชั้น 14 กรณีเดียว แต่เราพูดถึงภาพกว้างด้วย เราไม่ได้ก้าวล่วงดุลพินิจ แต่เราอยากสร้างความเคลื่อนไหว
ต่อข้อถามว่า หวังว่าจะให้นายกรัฐมนตรีมาชี้แจงด้วยตัวเองหรือไม่ นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า ข้อดีของมาตรา 153 คือกำหนดให้รัฐมนตรี เข้ามาชี้แจงโดยไม่ต้องผ่านตัวแทน จากที่พูดคุยกับ ส.ว. นอกรอบ พบว่าคนที่เห็นด้วยกับการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ มีมากกว่าจำนวน 1 ใน 3 ที่ต้องเข้าชื่อแน่นอน ทั้งนี้ในวันนี้(8ม.ค.) จะมีการประชุมกมธ.การพัฒนาการเมืองฯ เราเห็นพ้องกัน แต่จะต้องมาพิจารณาดูญัตติอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้รัฐบาลได้เตรียมตัวว่ามีเรื่องอะไรบ้าง เมื่อถามถึง ความเห็นเกี่ยวกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า หลายคนมองถึงความจำเป็น เป็นวิกฤตหรือไม่ อย่างไร ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ผิดกฎหมาย ฉบับไหนหรือไม่ สามารถดำเนินการได้หรือไม่ มีหลายแง่มุมที่ยังมีข้อถกเถียง ดังนั้นทำไมเราไม่ให้ผู้รับผิดชอบมาชี้แจง เพื่อไม่ให้ข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อน
เมื่อถามถึงเหตุผลในการที่ ส.ว. ตัดสินใจเปิดการอภิปรายแบบไม่ลงมติรัฐบาลชุดนี้ ที่เพิ่งทำงานได้ 4 เดือน นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลและฝ่ายนิติบัญญัติ สามารถทำหน้าที่ได้เป็นช่วงๆ ตอนรัฐบาลชุดที่แล้ว ก็มีการมารายงานทุก 3 เดือน ในเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงมีการทำงานร่วมกับกมธ. ที่เกี่ยวข้อง ประเด็นก็แตกต่างกับรัฐบาลชุดนี้ ที่มาจากประชาชน พันธะกรณี ข้อผูกพัน กับสิ่งที่หาเสียง หรือประกาศเป็นนโยบายไว้ เมื่อมีการให้พันธะสัญญาก็จะต้องขับเคลื่อน และมีความคาดหวังจากประชาชน อย่างไรก็ตาม การทำหน้าที่ตรงนี้ไม่อยากให้มองตัวบุคคล แต่อยากให้มองตัวของรัฐบาล ว่าสถานการณ์เวลานี้มีประเด็นที่มากพอ มีประโยชน์หรือไม่อย่างไรในการอภิปราย