จีนขุดพบ "ขวดปากเล็กก้นแหลม" หายาก คาดเก่าถึง 7,700 ปี

2023-12-22 09:40:47

จีนขุดพบ "ขวดปากเล็กก้นแหลม" หายาก คาดเก่าถึง 7,700 ปี

Advertisement

เจิ้งโจว, 21 ธ.ค. (ซินหัว) — ขวดชนิดหายากที่มีอายุย้อนกลับไปกว่า 7,000 ปี ถูกขุดพบที่แหล่งโบราณคดีเผยหลี่กั่ง (Peiligang site) ในเมืองซินเจิ้ง มณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีน ซึ่งเก่าแก่มากที่สุดในบรรดาขวดรูปแบบเดียวกันนี้ที่ค้นพบในจีน

ขวดรูปร่างแปลกตาชนิดนี้มีปากขวดขนาดเล็กและบริเวณส่วนก้นที่แหลม โดยเป็นหนึ่งในสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมหย่างเสา และมักถูกขุดพบจากบ้านเรือน หลุมขี้เถ้า และสถานที่ฝังศพ บรรดาผู้เชี่ยวชาญมีความคิดเห็นหลากหลายเกี่ยวกับการใช้งานขวดประเภทดังกล่าว ทั้งใช้สำหรับเป็นภาชนะสำหรับตักน้ำ ภาชนะกลั่นของเหลว หรือวัตถุฝังศพ

หลี่หย่งเฉียง นักวิจัยร่วมจากสถาบันโบราณคดี สังกัดสถาบันสังคมศาสตร์แห่งชาติจีน กล่าวว่าเบื้องต้นคาดว่าขวดที่ค้นพบใหม่นี้มีอายุประมาณ 7,700 ปี มันยาวมากกว่า 10 เซนติเมตร มีขนาดกะทัดรัดมาก และเล็กกว่าขวดก้นแหลมปากเล็กที่พบเห็นทั่วไปจากยุควัฒนธรรมหย่างเสา

อนึ่ง วัฒนธรรมหย่างเสาซึ่งมีอายุย้อนไปราว 5,000-7,000 ปีก่อน เป็นวัฒนธรรมยุคหินใหม่ที่มีต้นกำเนิดบริเวณตอนกลางของแม่น้ำเหลือง

“การค้นพบครั้งนี้ถือเป็นหลักฐานสำคัญชิ้นใหม่สำหรับการสำรวจต้นกำเนิดและความเกี่ยวโยงในการพัฒนาระหว่างวัฒนธรรมเผยหลี่กั่งกับวัฒนธรรมหย่างเสา” หลี่กล่าว

หลี่เสริมว่า เมื่อรวมข้อมูลกับการค้นพบก่อนหน้านี้ที่บ่งชี้ว่าผู้ตั้งถิ่นฐานในบริเวณเผยหลี่กั่งได้เรียนรู้วิธีใช้เชื้อราข้าวแดงในการหมักและกลั่นเหล้าอยู่แล้ว ขวดที่พบใหม่นี้จึงอาจเป็นภาชนะที่คนโบราณใช้ในการผลิตเชื้อรา

นอกจากนั้น นักโบราณคดียังค้นพบสิ่งประดิษฐ์หินยุคหินเก่าตอนปลาย เศษเปลือกไข่นกกระจอกเทศ ชิ้นส่วนแร่เหล็กสีแดง และสิ่งของอื่นๆ ที่แหล่งโบราณคดีเผยหลี่กั่ง ซึ่งการค้นพบนี้ส่งมอบข้อมูลใหม่สำหรับการศึกษาหลายหัวข้อสำคัญ เช่น ภูมิทัศน์ทางสังคมยุคหินเก่าในภูมิภาคที่ราบภาคกลาง และการเปลี่ยนผ่านจากยุคหินเก่าไปสู่ยุคหินใหม่

ทั้งนี้ แหล่งโบราณคดีเผยหลี่กั่ง มีอายุประมาณ 7,600-8,000 ปี เป็นแหล่งตั้งถิ่นฐานทางการเกษตรทั่วไป ด้วยขนาดพื้นที่ 50,000-60,000 ตารางเมตร มีชื่อเสียงในฐานะหนึ่งในแหล่งกำเนิดอารยธรรมเกษตรกรรมของจีน


(ภาพจากสถาบันโบราณคดี สังกัดสถาบันสังคมศาสตร์แห่งชาติจีน : ขวดทรงปากเล็กและก้นแหลมที่ขุดพบจากแหล่งโบราณคดีเผยหลี่กั่ง ในเมืองซินเจิ้ง มณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีน)