จีนเล็งสร้าง "เครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ใหม่" ในแอนตาร์กติกา

2023-12-20 13:45:59

จีนเล็งสร้าง "เครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ใหม่" ในแอนตาร์กติกา

Advertisement

เซี่ยงไฮ้, 19 ธ.ค. (ซินหัว) — จีนวางแผนติดตั้งเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ใหม่รอบขั้วโลกใต้ โดยต้นแบบของเครือข่ายกล้องดังกล่าวได้เสร็จสิ้นการทดลองใช้งานในทวีปแอนตาร์กติกาแล้ว

โครงการใหม่ที่มีชื่อว่า เครือข่ายสังเกตการณ์วัตถุท้องฟ้าตามโดเมนเวลาเทียนมู่ในแอนตาร์กติก (Antarctic TianMu Time-domain Astronomical Observation Array) ซึ่งคาดว่าจะประกอบด้วยกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดเล็ก 100 ตัวในภูมิภาคแอนตาร์กติก โดยกล้องโทรทรรศน์ 1 ตัวครอบคลุมพื้นที่ 10,000 ตารางองศาบนท้องฟ้า

นักออกแบบจากหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์แห่งเซี่ยงไฮ้ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ระบุว่ากล้องโทรทรรศน์ออปติคัลเหล่านี้จะทำการสังเกตการณ์อย่างต่อเนื่องในคืนขั้วโลก (polar night) หรือปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ไม่ขึ้นตอนกลางวันของทุกๆ ปี

ทั้งนี้ ต้นแบบของเครือข่ายสังเกตการณ์ฯ ถูกส่งไปยังสถานีจงซาน ฐานการวิจัยของจีนในแอนตาร์กติก ระหว่างการสำรวจพื้นที่แอนตาร์กติก ครั้งที่ 39 ของประเทศ โดยเรือตัดน้ำแข็ง 2 ลำของจีนได้เริ่มภารกิจสำรวจดังกล่าวเมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคม 2022 และเดินทางเป็นระยะทางมากกว่า 60,000 ไมล์ทะเล ในระยะเวลา 163 วัน

ต้นแบบดังกล่าวทำงานสังเกตการณ์อย่างราบรื่นเป็นเวลา 248 วันติดต่อกัน นับตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ. 2023 และรวบรวมข้อมูลจำนวนมากในช่วงคืนขั้วโลกของแอนตาร์กติก

โจวตัน หัวหน้าวิศวกรจากหอสังเกตการณ์ฯ ระบุว่าผลการวิเคราะห์เบื้องต้นเผยความแม่นยำของต้นแบบข้างต้นในการวัดความเข้มแสงของดวงดาวที่มีความสว่างมากกว่าโชติมาตรที่ 9 (9th magnitude) ในภาพที่เปิดรับแสงเป็นเวลา 30 วินาที สูงถึงระดับ 1 ใน 1,000 ของโชติมาตรดวงดาว ซึ่งช่วยยืนยันความเป็นไปได้ของการออกแบบของต้นแบบดังกล่าว

อนึ่ง ต้นแบบของเครือข่ายสังเกตการณ์ฯ เป็นอุปกรณ์สังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์เครื่องแรกของจีนในทวีปแอนตาร์กติกา ซึ่งใช้เทคโนโลยีการเก็บภาพแบบซีซีดี (CCD) ซึ่งช่วยให้กล้องโทรทรรศน์สามารถติดตามวัตถุบนท้องฟ้าได้โดยไม่ต้องมีกลไกขับเคลื่อน

(ภาพจากหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์แห่งเซี่ยงไฮ้ : ต้นแบบโครงการเครือข่ายสังเกตการณ์วัตถุท้องฟ้าตามโดเมนเวลาเทียนมู่ในแอนตาร์กติก กำลังทำงานในทวีปแอนตาร์กติกา)