"มัลลิกา-พัชรินทร์"ชงแก้ ก.ม.เพิ่มนิยาม "คุกคามทางเพศ" (มีคลิป)

2023-12-20 13:00:31

"มัลลิกา-พัชรินทร์"ชงแก้ ก.ม.เพิ่มนิยาม "คุกคามทางเพศ" (มีคลิป)

Advertisement

"มัลลิกา-พัชรินทร์"พร้อมสมาชิก ภท. ชงสภาฯ แก้กฎหมายอาญาเพิ่มนิยาม "คุกคามทางเพศ" ไม่ต้องรอให้เหยื่อถูกกระทำ เพิ่มบทลงโทษ พร้อมเพิ่มนิยาม "กระทำชำเรา" ให้ครอบคลุมทุกเพศ ไม่เฉพาะแค่สตรี เหมือนอดีต

เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.66 ที่สภาผู้แทนราษฎร  น.ส.มัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช ส.ส.ลพบุรี พรรคภูมิใจไทย (ภท.) นำสมาชิก ภท.  แถลงข่าวเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา ในประเด็นเรื่อง "การคุกคามทางเพศ" ซึ่งเป็นกฎหมายที่ค้างในสมัยประชุมที่แล้ว ที่เสนอโดย น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ อดีต ส.ส.กทม. 

น.ส.พัชรินทร์ ระบุว่าหลายท่านอาจทราบถึงกฎหมายฉีดไข่ฝ่อ หรือกฎหมายการป้องกันการกระทำผิดซ้ำ ที่สมัยที่แล้ว ได้ผ่านสภาฯและบังคับใช้แล้ว ในช่วงเวลานั้น ตนได้เสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ให้มีบทบัญญัติเพิ่มคำว่า "คุกคามทางเพศ" ซึ่งคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาข่มขืนกระทำชำเรา ได้ศึกษาไว้ วันนี้ขอขอบคุณ ส.ส. พรรคภูมิใจไทย ซึ่งเห็นด้วย ที่จะผลักดันเรื่องความปลอดภัย ที่ไม่เพียงแต่เฉพาะสุภาพสตรี แต่เป็นความปลอดภัยของสังคม เราจะมาผลักดันในเรื่องนี้ ในสาระสำคัญมี 3 ประเด็น


1. คือ การแก้ไขบทนิยาม ของคำว่ากระทำชำเรา ที่ในอดีตมีลักษณะครอบคลุมเฉพาะเพศหญิง แต่เราเห็นว่าสังคมเราเปลี่ยนไป ปัจจุบันเด็กเยาวชน ที่เป็นผู้ชาย ก็สามารถถูกล่วงละเมิดทางเพศ ข่มขืน กระทำชำเราจึงได้เสนอแก้ไขบทนิยาม การกระทำชำเรา ให้ครอบคลุมกับทุกเพศทุกกลุ่มมากขึ้น

2. คำว่า คุกคามทางเพศ ในอดีตไม่ได้มีการนิยามไว้ หากเหยื่อถูกติดตาม รู้สึกไม่ปลอดภัยทางเพศ บางครั้งไม่ต้องถึงขั้นโดนเนื้อโดนตัว เหยื่อต้องรอจนกว่าเป็นผู้เสียหาย ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกฆ่าข่มขืน ถึงจะสามารถเอาผิดได้ จึงเสนอคำว่าคุกคามทางเพศ เป็นบทนิยาม เป็นกฎหมายอาญามีโทษทางอาญา โดยในคำว่าคุกคามทางเพศ ได้พิจารณาศึกษาเปรียบเทียบ กับส่วนบทบัญญัติของกพ. พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรการ ของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เพื่อให้สอดคล้องกับสังคมไทย มากขึ้น เราไม่ต้องรอให้เกิดเหตุ จึงจะเอาผิดได้ บางครั้งการทำผิดที่ไม่ได้โดนเนื้อโดนตัว ก็อาจจะแข้าข่ายสร้างความเดือดร้อนรำคาญใจ ซึ่งเป็นลหุโทษ สามารถยอมความกันได้

3. บทลงโทษของคุกคามทางเพศ ที่เดิมเป็นลหุโทษ และยอมความกันได้ หากเรานิยามคำว่าคุกคามทางเพศ และกำหนดบทลงโทษในประมวลกฎหมายอาญาให้เป็นบทลงโทษทางอาญา ก็จะสามารถช่วยปิดช่องว่างทางกฎหมายได้มากขึ้นสร้างสังคมให้ปลอดภัยได้มากขึ้น และจะเป็นอีกกลไกหนึ่งที่ช่วยสังคมให้ปลอดภัย