เริ่มแล้วจ่ายเงินเยียวยาแรงงานไทยจากอิสราเอลคนละ 5 หมื่นบาท
เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.66 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน มอบหมายให้ นายอารี ไกรนรา เลขานุการ รมว.แรงงาน พร้อมด้วย นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ที่ปรึกษา รมว.แรงงาน ตรวจเยี่ยมพบปะให้กำลังใจแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอลที่มายื่นขอรับเงินเยียวยา 50,000 บาท เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนจากการขาดรายได้ในเบื้องต้น โดยมี นายสมาสภ์ ปัทมะสุคนธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน นายกิตติ์ธนา ศรีสุริยะ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ณ กรุงเทลอาวีฟ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ศูนย์ช่วยเหลือแรงงานและติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล กระทรวงแรงงาน ชั้น 1 อาคารกระทรวงแรงงาน
นายอารี กล่าวว่า หลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้อนุมัติงบกลาง 750 ล้านบาท ซึ่งเงินก้อนนี้จะนำมาเยียวยาให้กับแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอลและเดินทางกลับมายังภูมิลำเนาแล้วนั้น ซึ่งในเรื่องนี้ รมว.แรงงาน ได้มีความห่วงใยแรงงานไทยจากสถานการณ์ดังกล่าว จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้แจ้งข่าวประชาสัมพันธ์เพื่อให้แรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบเดินทางกลับมาจากอิสราเอลให้มายื่นคำขอรับเงินเยียวยาที่รัฐบาลเยียวยาให้ คนละ 50,000 บาท ได้ตั้งแต่วันนี้ (18 ธ.ค. 66) ซึ่งเป็นวันแรกพบว่าขั้นตอนต่างๆ ราบรื่นดี โดยแรงงานที่อยู่ในส่วนกลางสามารถมายื่นขอรับเงินเยียวยาได้ที่กระทรวงแรงงาน ส่วนผู้ที่อยู่ในต่างจังหวัดสามารถยื่นได้ที่สำนักงานแรงงานจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ
นายอารี กล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้ายอดจำนวนมาผู้ยื่นคำร้องขอรับเงินเยียวยาแรงงานไทยจากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอล ในวันนี้ (18 ธ.ค. 66) ซึ่งเป็นวันแรกของการเปิดให้มายื่น เมื่อเวลา 17.00 น. พบว่า มีผู้มายื่น จำนวน 1,125 ราย แยกเป็น กรณีมายื่นด้วยตนเอง 1,123 ราย กรณีเสียชีวิต 2 ราย ส่วนจังหวัด 5 อันดับแรกที่ผู้มายื่นคำร้องมากที่สุด คือ เชียงราย 124 ราย รองลงมา คือ อุดรธานี 116 ราย นครพนม 82 ราย หนองบัวลำภู 79 ราย นครราชสีมา 76 ราย ตามลำดับ ในส่วนของกรุงเทพมหานคร มีผู้มายื่นที่ศูนย์ช่วยเหลือแรงงานและติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล กระทรวงแรงงาน ชั้น 1 อาคารกระทรวงแรงงาน ถนนมิตรไมตรี จำนวน 65 ราย
"โดยขอให้พี่น้องแรงงานที่กลับมาจากอิสราเอลที่จะมายื่นขอรับเงินเยียวยานั้น ได้เตรียมเอกสารให้พร้อม เพราะถ้าเอกสารครบถ้วนสมบูรณ์ พี่น้องแรงงานก็จะได้รับเงินที่รวดเร็วขึ้น ซึ่งตามขั้นตอนภายหลังรับเอกสารแล้วจะใช้เวลา 7 - 10 วัน ก็จะได้รับเงินโอนเข้าบัญชีพี่น้องแรงงานในทันที" นายอารี กล่าว
ทั้งนี้ วิธีดำเนินการ ขั้นตอนการขอรับเงินและเอกสารประกอบการยื่นคำร้องนั้น
ขั้นตอนที่ 1 การยื่นคำร้อง ผู้ยื่นสามารถยื่นคำร้องขอรับเงินเยียวยา ณ สำนักงานแรงงานจังหวัดทุกจังหวัดและกระทรวงแรงงาน โดยแยกตามกลุ่มเป้าหมายและเอกสารที่เกี่ยวข้องประกอบการยื่นคำร้อง ดังนี้
กลุ่มที่ 1 แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในประเทศอิสราเอล และเดินทางกลับประเทศไทยหลังวันที่ 7 ตุลาคม 2566 ซึ่งมีอยู่ 9,475 คน จะต้องยื่นคำร้องด้วยตนเอง โดยมีเอกสารและหลักฐานที่เกี่ยวข้องสำหรับการยื่นขอรับเงินเยียวยา ดังนี้ 1) แบบคำร้องขอรับเงินเยียวยา กรณียื่นคำร้องด้วยตนเอง 2) บัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริงพร้อมสำเนา 3) หนังสือเดินทางพร้อมสำเนาหน้าที่มีรูปถ่าย และตราประทับเข้า – ออก ประเทศไทยหรือหนังสือเดินทางชั่วคราว (CI) พร้อมสำเนาหน้าที่มีรูปถ่าย และตราประทับเข้าประเทศไทย 4) แบบแจ้งข้อมูลการรับเงินโอนผ่านระบบ KTB Corporate Online 5) สำเนาหน้าสมุดบัญชีธนาคาร ทั้งนี้ ผู้ยื่นคำร้องพร้อมถ่ายรูป ณ สถานที่ยื่น และคำร้องสำเนาเอกสารทุกฉบับให้ผู้ยื่นคำร้องรับรองสำเนาถูกต้องพร้อมลงลายมือชื่อเรียบร้อยแล้ว
กลุ่มที่ 2 แรงงานไทยที่เสียชีวิตจากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอล จำนวน 39 ราย ผู้ยื่นคำร้อง คือ ทายาทผู้มีสิทธิตามกฎหมาย โดยมีเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องสำหรับการยื่นขอรับเงินเยียวยา ดังนี้ 1) แบบคำร้องขอรับเงินเยียวยา กรณีเสียชีวิต 2) สำเนาใบมรณบัตร 3) สำเนาทะเบียนบ้านผู้เสียชีวิต 4) หนังสือรับรองความสัมพันธ์ทางครอบครัว 5) หนังสือให้ความยินยอมเป็นทายาทโดยธรรม 6) สำเนาบัตรประชาชนทายาท 7) สำเนาทะเบียนสมรส (กรณีคู่สมรส) 8) สำเนาสูติบัตร (กรณีบุตร) 9) แบบแจ้งข้อมูลการรับเงินโอนผ่านระบบ KTB Corporate Online 10) สำเนาหน้าสมุดบัญชีธนาคารทายาทผู้มีสิทธิ ทั้งนี้ ผู้ยื่นคำร้องพร้อมถ่ายรูป ณ สถานที่ยื่น และคำร้องสำเนาเอกสารทุกฉบับให้ผู้ยื่นคำร้องรับรองสำเนาถูกต้องพร้อมลงลายมือชื่อเรียบร้อยแล้ว และผู้ยื่นคำร้องขอให้เป็นคนเดียวกันกับที่ยื่นคำร้องรับเงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิตจากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ
กลุ่มที่ 3 กรณีแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในประเทศอิสราเอลและเดินทางกลับประเทศไทยก่อนวันที่ 7 ตุลาคม 2566 โดยใช้วีซ่า Re-entry อายุไม่เกิน 90 วัน : ระหว่างวันที่ 9 กรกฎาคม - 6 ตุลาคม 2566 แต่ไม่สามารถเดินทางกลับไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลได้เนื่องจากกรมการจัดหางานชะลอการเดินทางด้วยเหตุภัยสงครามในประเทศอิสราเอล จำนวน 960 คน โดยมีเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องสำหรับการยื่นขอรับเงินเยียวยา ดังนี้ 1) แบบยื่นคำร้อง กรณี Re-entry Visa 2) บัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริงพร้อมสำเนา 3) หนังสือเดินทางพร้อมสำเนาหน้าที่มีรูปถ่าย และตราประทับเข้า - ออก ประเทศไทยไม่เกิน 90 วัน 4) Re-entry Visa อายุไม่เกิน 90 วัน) พร้อมสำเนา 5) แบบแจ้งข้อมูลการรับเงินโอนผ่านระบบ KTB Corporate Online และ 6) สำเนาหน้าสมุดบัญชีธนาคาร ทั้งนี้ ผู้ยื่นคำร้องพร้อมถ่ายรูป ณ สถานที่ยื่น และคำร้องสำเนาเอกสารทุกฉบับให้ผู้ยื่นคำร้องรับรองสำเนาถูกต้องพร้อมลงลายมือชื่อเรียบร้อยแล้ว
กลุ่มที่ 4 สำหรับแรงงานไทยกลุ่มที่ยังไม่เดินทางกลับจากอิสราเอล และประสงค์ที่จะเดินทางกลับมาเพิ่มเติม รวมถึงแรงงานไทยที่ยังคงถูกจับเป็นตัวประกัน เมื่อเดินทางกลับมาแล้วก็สามารถยื่นคำร้องขอรับเงินเยียวยาในส่วนนี้ได้เช่นเดียวกัน
ขั้นตอนที่ 2 เจ้าหน้าที่สำนักงานแรงงานจังหวัด/กระทรวงแรงงาน ตรวจสอบเอกสารของผู้ยื่นคำร้องและพิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นคำร้องตามหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเยียวยา
ขั้นตอนที่ 3 สำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ รวบรวมเอกสารคำร้องจากสำนักงานแรงงานจังหวัด/กระทรวงแรงงาน
ขั้นตอนที่ 4 กองบริหารการคลังรับคำร้องจากสำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ ตรวจสอบความถูกต้อง เสนอปลัดกระทรวงแรงงานพิจารณาอนุมัติเบิกจ่าย กองบริหารการคลัง โอนเงินเข้าบัญชี ผู้มีสิทธิ/ทายาท ได้รับเงินเยียวยา
ทั้งนี้ สามารถสอบถามได้ที่ สายด่วน กระทรวงแรงงาน 1506 หรือศูนย์ช่วยเหลือแรงงานและติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล กระทรวงแรงงาน โทร. 02-2321462-3 หรือ 02-2321471 หรือสำนักงานแรงงานจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ