รมช.คลังชี้สัปดาห์หน้าคลอดมาตรการแก้หนี้เอสเอ็มอี

2023-12-14 13:41:53

 รมช.คลังชี้สัปดาห์หน้าคลอดมาตรการแก้หนี้เอสเอ็มอี

Advertisement

รมช.คลังตอบกระทู้กยอมรับ ปชช.ลังเลลงทะเบีบนหนี้นอกระบบ เหตุรอดูความจริงจังรัฐบาลแก้ปัญหา ชี้สัปดาห์หน้า ครม. คลอดมาตรการแก้หนี้เอสเอ็มอี

เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.66   ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม ก่อนเข้าสู่วาระการประชุม มีการพิจารณากระทู้ถามสดของน.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ตั้งกระทู้ถามสด เรี่อง การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบที่ผลการลงทะเบียนช่วงแก้หนี้นอกระบบ ช่วงวันที่ 1-12ธ.ค.66 ที่ผ่านมา พบ 5 จังหวัดที่มีประชาชนมาลงทะเบียนมากสุด ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหนี้ที่มาลงทะเบียน แสดงให้เห็นว่า ลูกหนี้ไม่กล้ามาลงทะเบียนแก้ปัญหา เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ อยากทราบว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาลูกหนี้ไม่กล้ามาลงทะเบียนอย่างไร เพราะทุกวันนี้เจ้าหนี้ยังส่งคนไปตามเก็บดอกเบี้ยลูกหนี้อยู่และจะทำอย่างไรให้เกิดความร่วมมือระหว่างเจ้าหนี้-ลูกหนี้ในการแก้ปัญหา

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ชี้แจงว่า หลังจากที่ลูกหนี้มาลงทะเบียนแก้ปัญหาแล้ว จะใช้กลไกฝ่ายปกครอง และตำรวจเรียกเจ้าหนี้และลูกหนี้มาเจรจาไกล่เกลี่ยหากตรวจสอบพบว่า มีการชำระหนี้เกินยอดเงินต้นที่ยืมมาแล้ว จะเจรจายุติยอดหนี้ทั้งหมดอย่างละมุนละม่อม ยอมรับที่ประชาชนยังไม่กล้ามาลงทะเบียนแก้ปัญหา เพราะยังลังเลรอดูความจริงใจของรัฐบาลจะเอาจริงเอาจังการแก้หนี้นอกระบบอย่างเป็นรูปธรรมแค่ไหน รอดูฝ่ายปกครอง ตำรวจ จะดูแลความปลอดภัยได้แค่ไหน เชื่อว่า หลังจากนี้ประชาชนจะทยอยมาลงทะเบียนแก้ปัญหาเพิ่มขึ้น

นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า ตัวเลขหนี้นอกระบบที่มาลงทะเบียนขณะนี้จำนวนหลายพันล้านบาท แต่เชื่อว่า ยังต่ำกว่าตัวเลขจริงจำนวนมาก การที่เจ้าหนี้บางส่วนลองของ ใช้กำลังข่มขู่ คุกคามลูกหนี้ที่มาขึ้นทะเบียน ไม่ยอมรับกระบวนการเจรจานั้น ยืนยันรัฐบาลจะดำเนินการตามกฎหมายเอาผิดการทวงหนี้ผิดกฎหมาย เชื่อว่าจะแก้ปัญหานี้นอกระบบได้เป็นรูปธรรม เบื้องต้นคือ ให้หยุดการเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยที่เกินกว่ากฎหมายกำหนด ทั้งนี้รัฐบาลมีทางเลือกแก้ปัญหาโครงสร้างหนี้นอกระบบผ่านกลไกพิโค่ไฟแนนซ์ที่เป็นสถาบันให้กู้ขนาดเล็ก มีกระทรวงการคลังกำกับ ผ่านกระบวนการลงทะเบียน มีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 5 ล้านบาท ปล่อยสินเชื่อรายละไม่เกิน 50,000บาท เรียกเก็บอัตราดอกเบี้ย 33 % ต่อปีกรณีมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน หากไม่มีหลักประกันจะมีอัตราดอกเบี้ย 36% เป็นแนวทางสร้างเครื่องมือกลไกการเงินขนาดเล็ก รองรับปัญหาหนี้นอกระบบ โดยเจ้าหนี้นอกระบบสามารถผันตัวเข้าขอใบอนุญาตจากกระทรวงการคลัง เพื่อทำธุรกิจถูกกฎหมาย มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าธนาคารพาณิชย์ ขณะเดียวกันลูกหนี้ไม่เดือดร้อนเพราะอยู่ในกำกับของรัฐ การมีหนี้ไม่ถือว่า ผิดบาป หากประเทศไม่มีกลไก หรือเครื่องมือก่อหนี้ เพื่อนำหนี้มาประกอบอาชีพ สร้างรายได้ใหม่ ไม่มีโอกาสเจริญรุดหน้า หรือเติบโตเพียงพอ เพียงแต่หนี้นอกระบบต้องอยู่ในระดับสามารถบริหารจัดการตนเองได้

นายจุลพันธ์ กล่าวด้วยว่า กลไกปัญหาแก้ไขหนี้สิน ทั้ง เอสเอ็มอี กว่า 6หมื่นราย ที่ช่วงโควิดถูกปรับเป็นเอ็นพีแอล ในรหัส 21 สัปดาห์หน้า จะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการดำเนินการต่อไป รวมถึงการแก้หนี้ประชาชนกว่า 1 ล้านราย ที่เกิดเอ็นพีแอลในช่วงโควิด-19