เร่งย้ายสุนัขในศูนย์รักษ์สุนัขหัวหิน กว่า 300 ตัวไปยัง จ.บุรีรัมย์เพื่อลดการแออัดเตรียมรับมือโรคพิษสุนัขบ้า
เมื่อวันที่ 13 มี.ค. นายไมตรี ศรีอรุณ สารวัตรกรมปศุสัตว์ด่านกักกันสัตว์เพชรบุรี พร้อมด้วย นายสมศักดิ์ กรุณาพิทักษ์ หัวหน้าทีมสัตวเเพทย์ ศูนย์รักษ์สุนัขหัวหิน นำเจ้าหน้าที่ร่วมกันจับสุนัขกว่า 300 ตัวในศูนย์รักษ์สุนัข อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ใส่รถบรรทุกนำไปยังกรมปศุสัตว์ด่านกักกันสัตว์ จ.บุรีรัมย์ เพื่อลดความแออัดภายในศูนย์ฯที่มีสุนัขจรจัดนำมาเลี้ยงดูกว่า 1,200 ตัว ทำให้เกิดปัญหาสุนัขแย่งอาหารและกัดกันจนได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก
นายไมตรี กล่าวว่า สุนัขที่ขนย้ายไปจะนำไปดูแลรักษาเพิ่มเติม เนื่องจากสถานที่ของทาง จ.บุรีรัมย์มีพื้นที่และบุคลากรในการดูแลสุนัขมากกว่าทางหัวหิน ในส่วนของสุนัขของวันนี้จะนำไปก่อน 150 ตัวและในวันที่ 16 มี.ค.นี้จะมารับสุนัขที่เหลือโดยระหว่างการขนย้ายจะใช้ยาเพื่อให้สุนัขเซื่องซึมเพราะดูแลง่ายและต้องเดินทางไกลนานเกือบ 10 ชม.
ด้านน.น.บุษบา โชคสุชาติ รองนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองหัวหิน กล่าวว่า จากการประชุมที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเพื่อแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัด ซึ่งเป็นปัญหาทุกพื้นที่ทั้งประเทศ ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกระเบียบให้ท้องถิ่นเบิกจ่ายงบประมาณด้านอาหารและวัคซีน เพื่อแก้ปัญหาสุนัขจรจัด ขณะที่ปัญหาการเกิดโรคระบาดจะต้องแก้ไขที่ต้นเหตุโดยใช้กฎหมายที่เด็ดขาด มีบทลงโทษจากการปล่อยทิ้งสุนัข สำหรับศูนย์รักษ์สุนัขหัวหิน ปัจจุบันบริหารโดยใช้งบประมาณของเทศบาล เนื่องจากสุนัขจรจัดมีจำนวนมาก แต่มีเจ้าหน้าที่จับสุนัข 5-6 คนและการจับดำเนินการค่อนข้างยาก ทำให้ปริมาณการจับสุนัขเข้าศูนย์ไม่เท่ากับจำนวนการทิ้งสุนัขหรือลูกสุนัขเกิดใหม่ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาต้องใช้เทศบัญญัติกับผู้เลี้ยงสัตว์และหากบุคคลใดมีสุนัขในครอบครองจำนวนมากก็ขอให้ติดต่อได้ที่ศูนย์รักษ์สุนัขหัวหิน
น.สพ.สาโรช จันทร์ลาด หัวหน้าฝ่ายสุขภาพสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้เร่งรัดฉีดวัคซีนในรัศมี 5 กิโลเมตร พื้นที่หมู่ที่ 14 ต.หินเหล็กไฟ อ.หัวหิน และ หมู่ 6 ต.วังก์พง อ.ปราณบุรี อย่างต่อเนื่องหลังพบซากสุนัขติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ขณะที่หลายฝ่ายมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัดอย่างถาวรโดยทำการฝังไมโครชิพที่ผิวหนังสุนัขที่มีเจ้าของ การออกเทศบัญญัติเกี่ยวกับการควบคุมสัตว์เลี้ยงเพื่อให้มีข้อบังคับให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงต้องดูแลรับผิดชอบ หากละเลยจะมีบทลงโทษ ยืนยันว่าไม่มีผลในทางปฏิบัติจริงเหมือนในต่างประเทศโดยเฉพาะการฝังไมโครชิพที่ใช้งบประมาณค่อนข้างสูง ที่สำคัญในระยะสั้นท้องถิ่นควรจัดซื้อวัคซีนให้เพียงพอจากการสำรวจจำนวนสุนัขที่มีในพื้นที่ จัดการเรื่องทำหมันและการจำกัดจำนวนสุนัขจรจัดไม่ให้เพิ่มขึ้นซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรคระบาด