"ดร.เอ้"เฉลยทำไมถนน กทม.ทรุดซ้ำซาก

2023-11-16 12:26:16

"ดร.เอ้"เฉลยทำไมถนน กทม.ทรุดซ้ำซาก

Advertisement

"ดร.เอ้"เฉลยทำไมถนน กทม.ทรุดซ้ำซาก เสนอ 4 ข้อ ทำให้คนกรุงปลอดภัย ทั้งชีวิต และทรัพย์สิน

เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 66  ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ "ดร.เอ้" ประธานนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อดีตนายกสภาวิศวกร โพสต์คลิปทำไมถนนกรุงเทพฯ ถึงยุบทรุดง่าย เเละมีวิธีเเก้ไขอย่างไรได้บ้าง ผ่านเพจ เอ้ สุชัชวีร์ ว่า จากกรณีที่เกิดเหตุถนนยุบ ถนนทรุดตัว เกิดขึ้นหลายแห่งทั่วกรุงเทพมหานคร แต่ความจริงแล้ว ไม่ได้เพิ่งจะเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ แต่ที่ผ่านมาก็เกิดขึ้นตลอดมา ทำให้เกิดคำถามว่า ทำไมถนนกรุงเทพฯ ถึงยุบ ทรุดง่าย แล้วจะแก้ปัญหาได้อย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกซ้ำซาก ซึ่งปัญหาถนนยุบ ถนนทรุดตัวนั้น มีโอกาสเกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่ไม่น่าจะมากขนาดนี้ โดยสาเหตุที่ทำให้มีปัญหาเหล่านี้เกิดมาจาก 3 สาเหตุ คือ 1. ถนนไม่ได้มาตรฐาน อาจจะมาจากการออกแบบ การก่อสร้าง หรือการซ่อมแซม ดังนั้นเมื่อไม่ได้มาตรฐาน จึงทำให้ถนนไม่สามารถรับน้ำหนักไม่ได้อย่างที่ควรจะเป็น 2. ใช้งานผิดประเภท เช่น ถนนในซอยไม่ควรรับน้ำหนักมาก มีรถน้ำหนักเกินเข้าออกบ่อยครั้ง ก็ทำให้ถนนมีโอกาสยุบ และทรุดตัวได้ 3. ถนนออกแบบไม่ได้มาตรฐานและมีการใช้งานผิดประเภท ทั้งมีรถน้ำหนักมากวิ่งบนถนนบ่อย ไม่ได้รับการดูแล เกิดขึ้นพร้อมกัน

ดร.เอ้ ได้เสนอวิธีแก้ไขปัญหาดังกล่าวไว้ดังนี้ 1. ออกแบบต้องได้มาตรฐาน ซึ่งการออกแบบจะต้องคำนวณค่าเผื่อ (Safety Factor) ด้วยการ คูณ 1.5 เท่า 2 เท่า ถึง 3 เท่า ขึ้นอยู่กับประเภทการใช้งาน และผู้รับเหมาต้องก่อสร้างตามแบบที่ได้ออกแบบไว้ เจ้าของงาน ไม่ว่าจะเป็น กทม. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องกำกับดูแลให้มีการก่อสร้างให้ได้มาตรฐานด้วย 2. เข้มงวดรถสิบล้อน้ำหนักเกิน แถมพ่น PM 2.5 ซึ่ง กทม. มีกฎหมายความสะอาด กฎหมายความปลอดภัยดูแลได้ และเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง 3. กทม. ควรจัดทำผังสาธารณูปโภครวม เพราะ กทม. ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ และเป็นหน่วยงานที่มีข้อมูลพร้อม ไม่ว่าหน่วยงานด้านสาธารณูปโภคจะก่อสร้าง ปรับปรุง ซ่อมแซม บริเวณไหน ก็จะต้องประสาน กทม. เพื่อขออนุญาต หรือการส่งมอบงาน กทม. ก็ต้องเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย ผังสาธารณูปโภครวม จะช่วยให้ กทม. รู้ว่า ขณะนี้ในพื้นที่ กทม. มีพื้นที่ไหนกำลังก่อสร้าง รื้อถอน ซ่อมแซม หรือมีจุดเสี่ยงเกิดขึ้น ซึ่งการลงพื้นที่เพื่อดูจุดเสี่ยงนั้น สามารถดูด้วยตาเปล่า ก็สามารถบอกได้ว่ามีการทรุดตัวมากขึ้นหรือไม่ มีน้ำขังมากขึ้นหรือไม่ หากปล่อยไว้อาจเกิดความสูญเสียเกิดขึ้นได้ ขณะที่บางจุดแม้ในแผนที่จะระบุว่ามีการซ่อมแซมหลายครั้ง แต่เมื่อไปดูด้วยตาแล้วเหมือนกับได้ซ่อมแซมแล้ว ก็ไม่สามารถไว้วางใจได้ เพราะใต้พื้นที่นั้นอาจจะเป็นโพรง ก็สามารถใช้เทคโนโลยี Ground Penetrating Radar เข้าสำรวจได้ เป็นเทคโนโลยีที่ใช้งานง่าย ทั่วโลกเป็นที่นิยม มีราคาไม่แพง เทคโนโลยีดังกล่าวใช้หลักการส่งคลื่นไมโครเวฟลงไปใต้ถนน ทำให้สามารถบอกได้ทันทีว่า ถนนแน่นหรือไม่ มีโพรงหรือไม่ 4. การมีส่วนร่วมของประชาชน ถือว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก ซึ่ง กทม. ต้องเปิดช่องทางให้ประชาชนแจ้งข่าวสารได้ด้วยความสะดวก เพื่อให้นำไปสู่การป้องกันและแก้ไขได้ ทั้ง 4 ข้อดังกล่าวจะทำให้ถนนในกรุงเทพฯ มีความปลอดภัย ต่อชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน