"ดร.เอ้" แนะ กทม.เก็บข้อมูลถนนยุบ สะพานถล่ม ทำแผนที่จุดเสี่ยง ใช้เรดาร์สแกนสำรวจ เพื่อให้คนกรุงมีความปลอดภัย
เมื่อวันที่ 15 พ.ย.66 ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ "ดร.เอ้" ประธานนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกสภาวิศวกร ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการแต้มต่อ ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 ถึงประเด็นถนนยุบตัวในเขต กทม. ว่า เรื่องดังกล่าวตนไม่อยากให้มีการวิเคราะห์ หรือเบี่ยงประเด็นไปโดยที่ยังไม่มีข้อมูลที่ถูกต้อง เหตุการณ์ที่เกิดถนนเป็นหลุมยุบ ไม่ว่าจะเป็นที่พระโขนง หรือที่ถนนจตุรทิศ โดยหลักการทางวิศวกรรมจะสันนิษฐานได้ว่า การออกแบบ การก่อสร้าง หรือการซ่อมแซมมีปัญหาหรือไม่ ท่อมีความหนาเท่าไหร่ คานรับท่อออกแบบตามมาตรฐานหรือไม่ ไม่ใช่เพียงออกแบบว่าจะต้องรับน้ำหนักรถ แต่วิศวกรจะต้องคำนวณน้ำหนักเผื่อ (Safety Factor) ด้วย เพราะไม่มีใครล่วงรู้ได้ว่ารถที่จะวิ่งในกรุงเทพฯ จะมีน้ำหนักเท่าไหร่ หรือบางครั้งแม้น้ำหนักรถไม่เกินแต่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น ก็จะทำให้โครงสร้างของถนนต้องรับภาระมากขึ้น ด้วยเหตุเหล่านี้วิศวกรจึงจำเป็นจะต้องออกแบบให้เกินน้ำหนักที่คำนวณได้ไว้อย่างน้อย 1.5 เท่า – 2 เท่า แล้วแต่กรณี รวมทั้งการซ่อมแซมที่ต้องได้มาตรฐานด้วย
ส่วนการที่สังคมมีข้อสงสัยว่าหลังจากการเข้าไปตรวจสอบ พบว่ามีฝาท่อยุบตัวลง ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานกันว่า การยุบตัวดังกล่าวเกิดจากการวางแนวฝาท่อไม่เป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ ดร.เอ้ มองว่า แม้เรื่องนี้จะเป็นข้อสังเกตที่ดี แต่หากจะพิจารณาที่ฝาท่อก็จะเห็นว่าฝาท่อไม่ได้หัก แต่พลิกตัว แสดงว่าคานที่ใช้รับน้ำหนักฝาท่ออาจรับน้ำหนักไม่ได้ ดังนั้นหากฝาท่อไม่สามารถรับน้ำหนักรถได้จริง ฝาท่อก็น่าจะหักครึ่ง แต่ข้อสันนิษฐานดังกล่าวก็ยังมีความเป็นได้ทั้งสองอย่าง
ดร.เอ้ ยังได้ระบุอีกว่า เมื่อมีการก่อสร้างบริเวณชั้นใต้ดินใน กทม. ไม่ว่าจะเป็นการไฟฟ้าฯ การประปาฯ รฟม. หรือ รฟท. จะทำการก่อสร้างใดๆ ก็จะต้องขออนุญาตจาก กรุงเทพมหานคร (กทม.) ก่อน ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนย้ายสาธารณูปโภค หรือวางระบบสาธารณูปโภคใหม่ และเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ นอกจากผู้รับเหมาก่อสร้างจะส่งมอบงานกับหน่วยงานเจ้าของโครงการแล้ว ก็จะต้องเชิญตัวแทนเขต ตัวแทนฝ่ายโยธา กทม. เข้าร่วมรับทราบด้วย เนื่องจาก กทม. จะมีแผนที่สำหรับแสดงภาพรวมของจุดก่อสร้าง จุดซ่อมแซม หรือการเคลื่อนย้ายสาธารณูปโภคทั่วทั้งกรุงเทพฯ ทำให้รับรู้ได้ว่าบริเวณพื้นที่ใดเป็นจุดเสี่ยง นั่นหมายความว่าเมื่อ กทม. รู้ว่าตรงไหนเป็นจุดเสี่ยง เพราะ กทม. มีข้อมูลมากที่สุด ดังนั้นการเข้าไปดูทั้งด้วยสายตา และมีระบบทดสอบ โดยเทคโนโลยีที่ปัจจุบันมีราคาถูกและง่าย จะทำให้ลดจุดเสี่ยงลงได้อย่างมาก
ดร.เอ้ กล่าวอีกว่า แต่ที่ผ่านมาเวลาเกิดกรณีแบบนี้ หน่วยงานส่วนใหญ่จะเข้ามาปิดถนน และมีตำรวจล้อมบริเวณจุดเกิดเหตุ เพื่อไม่ให้มีไทยมุง ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แต่น่าเสียดายว่าไม่มีหน่วยเก็บข้อมูลหลักฐานเข้าไปที่จุดเกิดเหตุเลย ทั้งๆ ที่เป็นหน่วยงานที่สำคัญ โดยหลักแล้วภายในชั่วโมงแรก หน่วยเก็บข้อมูลหลักฐานจะต้องเข้ามาเก็บหลักฐาน ถ่ายรูปทุกมุม มีโดรนบินสำรวจ เพื่อนำไปวิเคราะห์หาสาเหตุ หรือการมีผู้เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างใต้ดินโดยตรงเข้าไปสังเกตการณ์และเก็บข้อมูลเป็นคนแรกๆ ก็จะทำให้สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์หาสาเหตุที่ถนนยุบตัวได้อย่างแม่นยำ และจะทำให้ไม่เกิดเหตุซ้ำซากขึ้นอีก เสียดายว่าตั้งแต่สะพานถล่มที่ลาดกระบัง จนถึงหลุมยุบ สังเกตว่ามีการขุดถนน เคลื่อนย้าย แต่ไม่ได้มีระบบเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบแต่อย่างใด ทำให้เหตุการณ์แบบนี้มีโอกาสเกิดขึ้นซ้ำได้อีก
นอกจากนี้ ดร.เอ้ ยังได้ให้แนวทางการแก้ไข ป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำอีกด้วยว่า เรื่องนี้ควรกลัดกระดุมให้ถูกตั้งแต่เม็ดแรก ตั้งแต่การออกแบบ ที่ส่วนใหญ่จะถูกต้องตามมาตรฐาน แต่ระหว่างการก่อสร้าง การควบคุมงาน หากไม่มีความรัดกุม ก็จะส่งผลอย่างที่เห็น นอกจากนี้เรื่องการซ่อมแซม การบำรุงรักษา ก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ เพราะพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังบ่อยๆ จะมีโอกาสเกิดโพรงได้ทุกถนนด้วย ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่ กทม. จะต้องทำแผนที่จุดเสี่ยง และใช้เรดาร์สแกนสำรวจ ซึ่งจะบอกได้ทันทีว่าใต้ถนนเป็นหลุม หรือเป็นโพรงมากแค่ไหน ก็จะทำให้คนกรุงเทพฯ มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมากขึ้นอีกมาก
“คนไทยต้องคิดเสมอว่า ความปลอดภัยต้องมาก่อน ไม่ใช่ติดป้าย Safety First แต่พอหลังเกิดเหตุข่าวก็เงียบหายไป แต่เรื่องนี้เกิดขึ้นได้อีกซ้ำซาก เพราะเราไม่สามารถวิเคราะห์หาสาเหตุที่แท้จริง ผมเองพยายามเสนอ พ.ร.บ. จัดตั้งองค์กรเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ ซึ่งจะเป็นองค์กรที่ทำงานเต็มเวลาเพื่อทำหน้าที่วิเคราะห์หาสาเหตุและนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ไม่เช่นนั้นเมื่อเกิดเหตุขึ้นหน่วยงานที่ก่อเหตุเข้าไปดูเอง สุดท้ายก็จะลูบหน้าปะจมูก จึงอยากให้พี่น้องประชาชนได้มาร่วมกันลงชื่อให้ครบ 1 หมื่นรายชื่อ เพื่อให้เกิดองค์กรเพื่อความปลอดภัยสาธารณะเหมือนประเทศที่พัฒนาแล้ว” ดร.เอ้ กล่าว