บีทีเอสแจงขั้นตอนปฏิบัติใช้ลิฟต์หนุ่มพิการ

2018-03-13 12:35:01

บีทีเอสแจงขั้นตอนปฏิบัติใช้ลิฟต์หนุ่มพิการ

Advertisement

บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ ออกแถลงการณ์เสียใจกรณีหนุ่มพิการทุบกระจกลิฟต์รถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีอโศก ยันไม่ได้นิ่งนอนใจ หากขั้นตอนปฎิบัติทำให้ไม่ได้รับความสะดวก พร้อมทบทวนปรับปรุง เผยผู้พิการทุกประเภทเดินทางด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอสวันละ 2,800 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้พิการที่นั่งรถเข็นวันละ 20 คัน แจงกรณีปิดล็อกประตูลิฟต์ไว้เมื่อผู้พิการมาใช้บริการให้กดปุ่มแจ้งเจ้าหน้าที่มารับ เพื่อกรอกแบบฟอร์มบันทึกการเดินทาง เป็นขั้นตอนการปฏิบัติที่ กทม. บริษัทและสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยหารือร่วมกัน


เมื่อวันที่ 13 มี.ค. บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์ นายมานิตย์ อินทร์พิมพ์ หรือ “ซาบะ” ผู้พิการนั่งรถเข็น ทุบทำลายกระจกลิฟต์โดยสารสำหรับผู้พิการที่สถานีอโศก ว่า คืนวันอาทิตย์ที่ 11 มี.ค.2561 เวลาประมาณ 20.15 น. นายมานิตย์ ได้มาใช้บริการที่สถานีอโศก โดยมาจากทางเชื่อมอาคารเทอร์มินัล 21 เมื่อมาถึงเจ้าหน้าที่ประจำสถานี ขอให้กรอกแบบฟอร์มบันทึกการโดยสาร ซึ่งเป็นไปตามระเบียบปฏิบัติปกติสำหรับผู้พิการ แต่ทั้งนี้นายมานิตย์ได้ปฏิเสธการลงชื่อ และได้เข้าไปทุบกระจกประตูลิฟต์แตก บริษัทรู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และมิได้นิ่งนอนใจ หากขั้นตอนการปฎิบัติทำให้ผู้พิการไม่ได้รับความสะดวกในการใช้บริการ บริษัทจะทำการทบทวนปรับปรุงขั้นตอนปฏิบัติให้มีความสะดวกมากขึ้น แต่ยังคงต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้โดยสารที่เป็นผู้พิการ



บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) ชี้แจงด้วยว่า สำหรับลิฟต์ที่ให้บริการในสถานีบีทีเอส แบ่งเป็น 2 ประเภท ประเภทแรก คือ ลิฟต์สำหรับคนพิการ ใน 4 สถานี ได้แก่ สถานีหมอชิต ช่องนนทรี อโศก และอ่อนนุช โดยก่อสร้างให้สามารถขึ้นตรงจากชั้นพื้นถนน ผ่านชั้นจำหน่ายตั๋ว ไปถึงชั้นชานชาลาได้โดยตรง เพื่อให้เกิดความสะดวก และความปลอดภัยกับผู้พิการมากที่สุด ซึ่งได้ก่อสร้างและเปิดให้บริการพร้อมรถไฟฟ้าบีทีเอสในปี 2542 และได้มีขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อการใช้งานของผู้พิการ โดย กทม. บริษัทและสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย ได้หารือร่วมกันในขณะนั้นว่า จะมีการปิดล็อกประตูลิฟต์ไว้ และเมื่อมีผู้พิการมาใช้บริการ ก็ให้กดปุ่มแจ้งเจ้าหน้าที่มารับ เพื่อกรอกแบบฟอร์มบันทึกการเดินทาง และให้เจ้าหน้าที่พาขึ้นไปยังชั้นจำหน่ายตั๋วและชั้นชานชาลา เพื่อโดยสารรถไฟฟ้าไปยังสถานีปลายทาง โดยจะมีเจ้าหน้าที่มารอรับที่สถานีปลายทางนำลงสู่ชั้นพื้นถนนอย่างปลอดภัย





ลิฟต์ประเภทที่สอง กทม.ได้มีการสร้างลิฟต์เพิ่มเติมจนครบในเส้นทางเดิม และในส่วนต่อขยายทุกสถานี โดยลิฟต์เหล่านี้เปิดให้ประชาชนทุกคนใช้งานได้ตามปกติ ซึ่งลิฟต์จะมี 2 ส่วน คือ ลิฟต์จากชั้นพื้นถนนไปยังชั้นจำหน่ายตั๋วจะอยู่นอกเขตชำระเงิน และลิฟต์จากชั้นจำหน่ายตั๋วไปยังชั้นชานชาลา จะอยู่ในเขตชำระเงิน จึงสามารถใช้งานได้โดยไม่ต้องกดเรียกเจ้าหน้าที่ แต่สำหรับผู้พิการเมื่อขึ้นมายังห้องจำหน่ายตั๋วแล้ว ต้องติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อกรอกแบบฟอร์มและรับบริการจากเจ้าหน้าที่



ปัจจุบันมีผู้พิการทุกประเภทเดินทางด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอส วันละประมาณ 2,800 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้พิการที่นั่งรถเข็นวันละประมาณ 20 คัน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัทได้ติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกบนสถานีเพิ่มขึ้น รวมทั้งอุปกรณ์สำหรับผู้พิการ อาทิ การสร้างทางเดินเชื่อมจากสถานีสยามไปยังแยกราชประสงค์ การติดตั้ง ลิฟต์สำหรับรถเข็นคนพิการ (Stair Lift) ที่สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ และการติดตั้งเข็มขัดล็อกวีลแชร์ (Wheel chair belt) ไว้ในขบวนรถ เพื่ออำนวยความสะดวกและคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้พิการที่ใช้รถเข็น





ทั้งนี้ บริษัทพร้อมที่จะพูดคุยเพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะกับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยขอให้แสดงออกถึงข้อเรียกร้องอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้มีส่วนร่วมสร้างการเดินทางที่ปลอดภัย สะดวก รวดเร็ว และเป็นประโยชน์ต่อทุกคน

อ่านข่าวเพิ่มเติม หนุ่มพิการแจงทุบกระจกลิฟต์บีทีเอสโดนละเมิดสิทธิ