“หมอล็อต”ห่วง“หมอเฒ่า”สืบสานวัฒนธรรมคนกับช้างเหลือน้อย

2018-03-13 10:50:37

“หมอล็อต”ห่วง“หมอเฒ่า”สืบสานวัฒนธรรมคนกับช้างเหลือน้อย

Advertisement

“หมอล็อต”ยืนยันผู้ใหญ่ใน ทส. และกรมอุทยานแห่งชาติฯ ให้ความสนใจมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาช้างมาโดยตลอด แต่บางเรื่องต้องใช้เวลา ระบุเป็นห่วง “หมอเฒ่า”ผู้สืบสานวัฒนธรรมคนกับช้างเหลือน้อย



เมื่อวันที่ 13 มี.ค. น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน หรือ “หมอล็อต” สัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์ “นิว18”เนื่องในวันช้างไทย 13 มี.ค. ว่า ตอนนี้ขอเรียนให้ทราบว่า ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาช้างไทยมาถูกทางแล้ว เพียงแต่ว่าเรื่องพวกนี้ต้องใช้เวลา เพราะว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายประเด็นเกิดมานานแล้วแต่เราไม่รู้ มารู้ตอนปัญหาบูมแล้ว วิธีแก้ก็ต้องขอดเกล็ดย้อนปัญหา ใช้เวลาในการแก้ไขปัญหาเป็นสิ่งที่สังคมต้องเข้าใจ



หมอล็อต กล่าวต่อว่า เขอให้เชื่อมั่นในหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ว่าทุกหน่วยงานตั้งใจมุ่งมั่นเตรียมพร้อมแก้ไขปัญหาช้างตลอดเวลา ผู้ใหญ่ก็ให้ความสำคัญอย่างมาก ส่วนตัวเวลาเจอ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) รัฐมนตรีก็จะคุยปัญหาช้างตลอด เพราะฉะนั้นเรื่องเหล่านี้ผู้ใหญ่ติดตามตลอด รวมทั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ก็ติดตามตลอดเช่นกันและบอกว่าอะไรจะช่วยแก้ไขปัญหาช้างได้ให้บอกมา เพราะนั้นขอให้ทุกท่านเชื่อมั่นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจ ใครอยากเสนอแนะสนับสนุนก็ยินดี จะทำให้การแก้ปัญหาเกิดขึ้นได้เร็ว





“สำหรับปีนี้ผมค่อนข้างที่จะห่วงใยวิตกกังวลเกี่ยวกับบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับช้าง คือ บุคลากรการแพทย์ ตอนนี้ประเทศไทยมีมากขึ้น ทำให้สุขภาพช้างเลี้ยงและช้างป่ามีสุขภาพดี ประชากรช้างเพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่ผมกังวล และคนมองข้าม คือ หมอช้าง เป็นควานข้างหรือหมอเฒ่าที่เลี้ยงช้าง เป็นคนสืบสานวัฒนธรรมคนกับช้าง ซึ่งหมอเฒ่าลดน้อยลง เหลืออยู่เพียงไม่กี่คน อาจทำให้การสืบทอด การสานต่อสะดุดขาดช่วงไป ดังนั้นหมอช้าง หรือ หมอเฒ่าต้องได้รับการสานต่อวัฒนธรรมคนกับช้าง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับขนบธรรมเนียมคนกับช้างต้องเข้าไปดูและสืบสานได้จะดีมาก เพราะนั่นคือรากเหง้าวัฒนธรรม ”หมอล็อต กล่าว



หมอล็อต กล่าวด้วยว่า ตอนนี้นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เน้นย้ำเรื่องการจัดการถิ่นที่อยู่อาศัยของช้างป่าโดยน้อมนำพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 คือ ทำแหล่งแปลงหญ้า ดินโป่ง แหล่งน้ำ ให้สมบูรณ์จะทำให้ช้างป่าที่ออกนอกพื้นที่กลับคืนมาสู่ป่า คือ ถ้าช้างออกไปเอง เราก็จะทำให้ช้างกลับมาเอง นี่คือนโยบายของอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ที่ให้น้อมนำพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปฏิบัติอย่างเคร่งครัด






อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : จัดเลี้ยงเค้กผลไม้ยักษ์เนื่องในวันช้างไทย  วันนี้มีอะไร: 13 มีนาคม วันช้างไทย

ขอบคุณเฟซบุ๊ก : ภัทรพล ล็อต มณีอ่อน