"รอมฎอน"แจงความจำเป็นเสนอกฎหมายยุบ กอ.รมน. ชี้ 3 ทางเลือกสำหรับนายกฯ
เมื่อวันที่ 1 พ.ย.66 นายรอมฎอน ปันจอร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย นายเชตวัน เตือประโคน ส.ส.ปทุมธานี เขต 6 พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการทหาร คนที่หก ร่วมแถลงข่าวกรณีการเสนอร่าง พ.ร.บ. ยกเลิก พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 หรือร่างกฎหมายยุบ กอ.รมน. และท่าทีของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ต่อเรื่องนี้ ว่าร่างกฎหมาย ยุบ กอ.รมน. อยู่ในชุดกฎหมายเปลี่ยนประเทศ ซึ่งพรรคก้าวไกลยื่นเข้าสภาฯ เป็นชุดแรกตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค.66 หัวใจสำคัญคือเสนอให้มีการปฏิรูปกองทัพและระบบงานความมั่นคงของประเทศ สถาปนาหลักการประชาธิปไตยที่รัฐบาลพลเรือนเป็นใหญ่ ทำให้กองทัพอยู่ห่างออกจากการเมืองมากที่สุด และอีกด้านหนึ่งคือการเปิดโอกาสสำหรับการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การยุบ กอ.รมน. มีเหตุจำเป็นหลายประการ หนึ่งในนั้นคือการพยายามทำให้ความมั่นคง ไม่ใช่เรื่องที่ถูกผูกขาดอยู่เพียงบทบาทและหน้าที่ของกองทัพเท่านั้น แต่ต้องเป็นเรื่องของประชาชน ถูกกระจายออกสู่มือของหน่วยงานพลเรือน ภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐบาลพลเรือน นอกจากนั้น ร่างกฎหมายนี้ยังพูดถึงการบริหารราชการที่มีความโปร่งใสและชอบธรรม เพราะที่ผ่านมามีข้อถกเถียงและข้อกล่าวหาต่อ กอ.รมน. จำนวนมาก เกี่ยวกับการใช้งบประมาณที่มากเกินจริงและไม่โปร่งใส เช่น กรณีล่าสุดเรื่องบัญชีผี หรือกรณีปฏิบัติการทางทหารที่เกี่ยวกับเด็ก ที่ครั้งหนึ่ง กอ.รมน. เคยระบุในเอกสารงบประมาณถึงตัวชี้วัด คือการพยายามเปลี่ยนความคิดเด็กอายุ 1-5 ขวบ ซึ่งต้องถามว่าเป็นกรอบคิดแบบไหนที่มองเด็กเข้ามาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งแบบนั้น
นายรอมฎอน กล่าวต่อว่า ตั้งแต่อดีตพรรคอนาคตใหม่จนมาถึงพรรคก้าวไกล กอ.รมน. เป็นองค์กรที่ถูกตรวจสอบอย่างหนัก โดยเฉพาะปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (IO) เราพบว่าการพยายามด้อยค่าแพร่มลทินของ กอ.รมน. ส่งผลด้านกลับทำให้ผู้คนเกิดความไม่เชื่อมั่นต่ออำนาจรัฐ ปฏิบัติการเหล่านี้เป็นหนึ่งในงานการเมืองที่สำคัญ ถ้าเราปล่อยให้หน่วยงานภายใต้กรอบคิดแบบนี้ทำงานต่อไป จะจำกัดโอกาสและทางเลือกของสังคมไทยในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งและจุดบรรจบที่ลงตัวในทางการเมืองที่จะอยู่ร่วมกันระหว่างรัฐกับประชาชน
“เกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ทิศทางการคลี่คลายความขัดแย้งนำโดยวิธีคิดแบบทหาร ทั้งที่หน่วยงานความมั่นคง ควรมีหน้าที่และอำนาจจำกัดอยู่เพียงการรักษาบูรณภาพแห่งดินแดน ควรทำหน้าที่ของรั้ว ไม่ใช่เอารั้วเข้ามาในห้องนั่งเล่นในพื้นที่ของพลเรือน ถ้าเรามี กอ.รมน. ซึ่งเป็นองค์กรตกทอดจากยุคสงครามเย็น ที่มีมุมมองต่อประชาชนว่าเป็นภัยคุกคาม การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งจะทำได้ยากลำบาก”นายรอมฎอนกล่าว
นายรอมฎอนกล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่นายกฯ มีท่าทีเมื่อวานนี้ (31 ต.ค. ว่าไม่เห็นด้วยกับการยุบ กอ.รมน. ตนต้องบอกว่าปัจจุบันร่างกฎหมายฉบับนี้ถูกวินิจฉัยโดยประธานสภาฯ ว่าเป็นร่างเกี่ยวด้วยการเงิน ต้องให้นายกฯ ให้คำรับรองเพื่อให้มีการพิจารณาต่อในสภาผู้แทนฯ โดยการให้หรือไม่ให้คำรับรองนั้น อาจไม่เกี่ยวข้องกับท่าทีหรือจุดยืนว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการยุบ กอ.รมน. เพียงแต่เป็นการเปิดโอกาสให้กลไกทางรัฐสภาได้ทำหน้าที่ต่อไป ตนเข้าใจดีว่าแม้แต่ในพรรคร่วมรัฐบาลก็อาจเห็นต่างกันในประเด็นนี้ เช่น อดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ประธานวิปรัฐบาล รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ โดยเฉพาะ สส. จากพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากประสบการณ์ของตน เห็นว่าประเด็นนโยบายยุบ กอ.รมน. ได้รับเสียงตอบรับเยอะมาก แทบเป็นฉันทามติสำหรับผู้คนในพื้นที่ที่มีการบังคับใช้กฎหมายพิเศษและอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของ กอ.รมน. ดังนั้น เชื่อว่าเพื่อนสมาชิก สส. ที่มาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาจมีท่าทีที่เห็นต่างไปจากนายกฯ และเราควรรับฟังเหตุผลของเขา นี่คือสาเหตุที่ตนเรียกร้องให้นายกฯ ให้คำรับรองต่อร่างกฎหมายฉบับนี้และเปิดทางให้สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาต่อไป
“ถ้าท่านไม่ให้คำรับรอง อาจทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลพลเรือนที่ควรมีอำนาจเหนือกองทัพมัวหมอง ดังนั้นเพื่อยืนยันว่าท่านในฐานะ ผอ.รมน. และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีสิทธิอำนาจอย่างเต็มที่ ไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลใด ก็น่าเปิดโอกาสให้ผู้แทนราษฎรได้ถกเถียงกัน ไม่ต้องกังวล ไม่ต้องกลัว เพราะเราเถียงกันด้วยเหตุผลและสู้กันในการโหวต ซึ่งเป็นกลไกปกติของสภาผู้แทนราษฎร” นายรอมฎอนระบุ
นายรอมฎอนยังกล่าวต่อถึงช่องทางการรับฟังความเห็นของประชาชนต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ในเว็บไซต์สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ว่าตนเพิ่งตระหนักว่ากลไกของสภาฯ มีอิทธิพลมีพลังอย่างมาก จำได้ว่าเมื่อวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา ตนเปิดดูเว็บไซต์ มีคนแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายนี้แค่ 2 คน หลายกฎหมายก็มักเป็นอย่างนี้ ตนจึงลองโพสต์คลิปลงโซเชียลมีเดีย ถามผู้คนว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่จะยุบ กอ.รมน. หลังจากนั้นก็มีคนหลั่งไหลเข้ามาแสดงความคิดเห็นเยอะมาก เพิ่มขึ้นเป็นหลักพันหลักหมื่น จนตอนนี้ถือเป็นความสำเร็จของสภาผู้แทนฯ ที่มีคนเข้ามาดูร่างกฎหมายถึง 250,000 คน และมีคนแสดงความเห็นกว่า 46,000 คน โดยผลออกมาปรากฏว่าคะแนนไม่เห็นด้วยนำอยู่ ซึ่งถ้าความเห็นของสาธารณะเป็นแบบนี้จริง ในมุมของ กอ.รมน. และนายกฯ ก็ไม่ควรกังวลอะไร แต่ประเด็นสำคัญคือ มีการตั้งข้อสังเกตในโลกออนไลน์อยู่พอสมควร ว่าตัวคำถามในเว็บไซต์อาจกำกวม ทำให้คนที่เห็นด้วยกับการยุบ กอ.รมน. อาจจะตอบว่าไม่เห็นด้วย โดยเข้าใจว่าหมายถึงไม่เห็นด้วยกับ กอ.รมน. โดยจากที่ได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเครื่องมือนี้ ก็ยอมรับว่าอาจมีความเห็นในลักษณะนี้
ปัญหาข้อที่ 2 คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สะท้อนมาที่ตนว่ารู้สึกไม่มั่นใจระบบ เพราะเว็บไซต์ต้องระบุเลขบัตรประจำตัวประชาชน เกรงว่าแสดงความเห็นแล้วจะมีผลกระทบกับเขาหรือไม่ เพราะหลายครั้งการสำรวจความคิดเห็นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะเรื่องล่าสุดคือการประเมินผลการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็มีแบบสอบถามลงไปในพื้นที่ ให้ระบุชื่อ ที่อยู่ ลงลายเซ็น ว่าเห็นด้วยกับการขยายหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ตนได้สอบถามเจ้าหน้าที่ ได้รับคำตอบว่าการระบุตัวตน จะเป็นข้อมูลลับ ไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ และมีการจัดเก็บข้อมูลแยกส่วนจากความคิดเห็น
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาโหวตซ้ำ ทำให้มีการประเมินว่าตัวเลขคนที่ไม่เห็นด้วยที่เข้ามาเยอะๆ อาจมาจากการโหวตซ้ำ ซึ่งตามข้อเท็จจริง ทางเจ้าหน้าที่ก็พบความเห็นที่มีลักษณะคล้ายการคัดลอกข้อความเหมือนๆ กัน ถึงอย่างนั้น แม้ความเห็นของประชาชนที่เข้ามาจะมีความสำคัญมาก แต่ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร เหตุผลของการมีระบบนี้ คือการเปิดพื้นที่ เพื่อให้สภาฯ สามารถจัดทำเป็นเอกสารรายงานสรุปให้ สส. เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณากฎหมาย ดังนั้น ถ้านายกฯ เศรษฐาให้คำรับรองและส่งร่างกลับมาที่สภาผู้แทนฯ เพื่อให้มีการบรรจุวาระพิจารณา เราจะได้เห็นรายงานและเหตุผลของผู้แสดงความเห็นทั้ง 2 ฝั่ง ทั้งนี้ ตนจะทำหนังสือถึงรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ซึ่งกำกับดูแลระบบงานนี้ เพื่อขอข้อมูลและคำชี้แจงเกี่ยวกับระบบอย่างเป็นทางการต่อไป
นายรอมฎอนกล่าวว่า หลังจากนี้มีทางเลือกสำหรับนายกฯ เศรษฐา 3 ทาง ทางแรก คือการให้คำรับรองร่างกฎหมายยุบ กอ.รมน. เพื่อเดินไปตามกลไกปกติ คุยกันต่อในสภา ทางเลือกที่ 2 จะด้วยแรงกดดันหรืออะไรก็แล้ว นายกฯ อาจไม่ให้คำรับรอง ซึ่งตนทราบว่าขณะนี้มีคำแนะนำอย่างเป็นทางการจากทาง กอ.รมน. ส่งหนังสือไปยังสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ว่าไม่ให้นายกฯ รับรองร่างกฎหมายนี้ และทางเลือกที่ 3 การปล่อยเกียร์ว่าง เพราะตามกฎหมายไม่ได้บอกว่านายกฯ ต้องส่งร่างกลับมาที่สภาฯ ภายกี่วัน ในสมัยอดีตนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีร่างกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงินที่ค้างไว้กว่า 40 ฉบับ แต่ไม่ว่านายกฯ จะเห็นอย่างไร การยุบ กอ.รมน. ก็ยังเป็นวาระทางการเมืองที่สำคัญของตนและของพรรคก้าวไกล ซึ่งหลังจากนี้อาจดำเนินการในอีก 2 ช่องทาง ทางแรกคือการหยิบยกเรื่องนี้ไปคุยในคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ที่ตนเป็นกรรมาธิการ อีกทางคือการเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยภาคประชาชน แม้ไม่ได้เป็นบทบาทโดยตรงของ ส.ส. หรือของพรรคก้าวไกล แต่ก็มีโอกาสในการพบปะพูดคุยกับภาคประชาชนหรือนักวิชาการ เพื่อเพิ่มพื้นที่ถกเถียงเรื่องนี้
ด้านนายเชตวัน กล่าวว่า จากคำสัมภาษณ์ของนายกฯ เกี่ยวกับสถานะ กอ.รมน. ถัดจากนี้ อาจเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนที่จะขยายบทบาทของกองทัพในพื้นที่สาธารณะมากขึ้น โดยจุดเปลี่ยนแรกคือการมีกฎหมายรับรองออกมาหลังรัฐประหาร 2549 ในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุฬานนท์ นั่นคือ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ซึ่งก็คือกฎหมายที่พรรคก้าวไกลได้เสนอร่างกฎหมายเพื่อจะไปยกเลิกนั่นเอง
ต่อมาหลังการรัฐประหาร 2557 คำสั่งหัวหน้า คสช.51/2560 แก้กฎหมายที่รับรอง กอ.รมน.ฉบับนี้ โดยได้นิยามความมั่นคงที่ให้ กอ.รมน. เข้าไปมีบทบาทมากมาย ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบภัยคุกคาม, ภัยที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทั้งจากภายในและภายนอก รวมถึงภัยดังกล่าวที่อาจเกิดจากการกระทำของบุคคลหรืออาจเกิดจากธรรมชาติ ซึ่งน่าสนใจว่าข้อเสนอเหล่านี้ มาจากงานศึกษาของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เรื่อง "การปรับบทบาทของกองทัพไทย เพื่อรองรับภัยคุกคามรูปแบบใหม่" ซึ่งศึกษาไว้ตอนที่ พล.อ. ประยุทธ์ เข้ารับการศึกษาที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร ภารัฐร่วมเอกชน รุ่นที่ 20 ปี 2550-2551 และต่อมากลายมาเป็นหนังสือชื่อ "กองทัพไทยกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่" โดยหลายๆ เรื่องที่ พล.อ. ประยุทธ์เสนอ ปรากฏขึ้นจริงในการแก้กฎหมายในปี 2560 ขณะที่ พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกฯ แต่เรื่องเดียวที่ยังไม่เกิดขึ้น คือสิ่งที่งานของ พล.อ. ประยุทธ์ บอกว่า จะพยายามลดหน่วยงานความมั่นคง อย่างทหาร ตำรวจ ให้เหลือน้อยกว่าพลเรือน ในสัดส่วนที่เจ้าหน้าที่พลเรือน 60 เปอร์เซ็นต์ เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ 40 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อนายกฯ เศรษฐา ได้ประชุม กอ.รมน. ท่านบอกว่าไม่ได้มีการพูดเรื่องยุบ กอ.รมน. มีแต่พูดเรื่องใช้ที่ดินกองทัพมาให้ประชาชนใช้ประโยชน์ นี่ก็ยิ่งหมายความว่ากองทัพเป็นแกนหลักอยู่ในองค์กรนี้ ตนจึงคิดว่า คำให้สัมภาษณ์ของนายกฯ เป็นอีกครั้งหนึ่งที่จะขยายบทบาทของ กอ.รมน. ที่มีแกนหลักเป็นกองทัพ มายุ่งเกี่ยวกับสาธารณะ กับประชาชนมากขึ้น ดังนั้น ทางที่ดี แม้ว่านายกฯ อาจไม่เห็นด้วยกับการยุบ แต่ควรให้เรื่องนี้ถูกนำมาพูดคุยถกเถียงกันในสภาผู้แทนราษฎร ว่าจะยุบหรือจัดที่จัดทางให้ กอ.รมน. องค์กรที่มีทหารเป็นแกนหลัก ที่มีอำนาจสารพัดในสาธารณะอย่างไร