"จเด็จ"ซัดแก้ รธน.เอามัน ไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ลั่น ส.ว.ค่อนสภาไม่เอาด้วยแก้ทั้งฉบับ
เมื่อวันที่ 30 ต.ค.66 ที่รัฐสภา นายจเด็จ อินสว่าง ส.ว.ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการรับฟังความเห็นในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ทาง กมธ.พัฒนาการเมืองฯกำลังรับฟังกันอยู่ แต่ในมุมมองของตน ตนว่าคำถามหนึ่งที่ไม่ค่อยได้พูดให้ประชาชนทราบ ว่าจะแก้รัฐธรรมนูญไปทำไม แก้แล้วได้ประโยชน์อะไร ที่ตนพูดไม่ได้หมายความว่าไม่เห็นด้วย แต่ช่วยไตร่ตรองให้ดีว่า อะไรที่ทำแล้วเป็นประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชนก็ควรทำ หากแก้แล้วประชาชนมีงานทำมากขึ้น มีความสมดุลของรายได้เพิ่ม เศรษฐกิจหมุนเวียนดีขึ้น ตนว่าก็ควรแก้ แต่ตนยังไม่เห็นประโยชน์ เป็นการแก้เอามัน ไม่ได้แก้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน
เมื่อถามว่า ขณะนี้ยังไม่ต้องเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ นายจเด็จ กล่าวว่า ยังไม่ต้องเร่งทำ หากกังวลเรื่องอำนาจ ส.ว. ชุดนี้ก็จะหมดลงในเดือน พ.ค.67 ไม่ต้องกังวลเรื่องเหล่านี้ ตรงกันข้ามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะก่อให้เกิดการถกเถียง แสดงความเห็นต่าง ซึ่งจะทำให้เกิดความขัดแย้งต่อคนในชาติ ที่สำคัญประชาชนประเทศชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันหลักของชาติได้อะไรขึ้นมา ซึ่งขณะนี้พวกเราอยู่กันอย่างมีความสุขแล้ว
“ตั้งแต่พรรคการเมืองประกาศจะแก้รัฐธรรมนูญแล้วประชาชนจะได้ประโยชน์อะไร แก้เพื่ออะไร ยิ่งไปตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และทำประชามติ ยิ่งทำให้เปลืองงบประมาณมากมาย ผมว่าลองคิดให้ดีๆ ส่วนทางออกผมมองว่าเราก็ต้องมีการพูดคุยหามุมมองกัน ในที่สุดแล้วก็คงไปไม่ถึงทำประชามติเพื่อยกร่างใหม่ส่วนที่วิจารณ์ว่ารัฐธรรมนูญปี60 มาจากการทำรัฐประหารผมก็เห็นว่าพูดวนอยู่อย่างนี้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้มาจากการทำรัฐประหาร แต่ก็มาจากการทำประชามติ รับฟังความคิดเห็นประชาชนเช่นกัน ประชาชนก็ได้แต่นั่งมองว่าเมื่อไหร่เศรษฐกิจจะดีขึ้น เมื่อประชาชนจะมีคุณภาพที่ดีขึ้นกว่านี้ในหลายๆ ด้าน พูดกันตรงนี้ดีกว่า” นายจเด็จ กล่าว
เมื่อถามว่า หากเสนอเข้าที่ประชุมสภาฯจะให้ความเห็นชอบหรือไม่ นายจเด็จกล่าวว่า ตนจะดูว่าเขาจะยังแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือจะแก้เป็นรายมาตรา ตนก็จะอภิปรายว่าในแต่ละมาตราที่จะแก้นั้น เป็นประโยชน์กับประชาชนหรือไม่ หากแก้ทั้งฉบับตนก็ไม่เอาด้วยอยู่แล้ว ส่วนมี ส.ว.คนอื่นๆ คิดเช่นเดียวกันกับตนด้วยหรือไม่นั้น ก็ค่อนสภาที่คิดแบบนี้
ต่อข้อถามว่า แม้จะยกเว้นการแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ทาง สว.ก็ยังคงไม่เห็นด้วยใช่หรือไม่ นายจเด็จ กล่าวว่า ต้องดูอีกทีเพราะหมวด 1 และหหมวด 2 มีกว่า 38 มาตรา ซึ่งหลีกเลี่ยงยาก มีหลายอย่างที่ควรคำนึงให้มาก และที่สำคัญคือประชาชนได้ประโยชน์อะไรขึ้นมาจากการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ