"นิกร" กางไทม์ไลน์รับฟังความเห็นประชามติตลอด พ.ย. มั่นใจ คกก.ศึกษาประชามติทันสิ้นปี
เมื่อวันที่ 28 ต.ค.66 นายนิกร จำนง ประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 กล่าวถึงความคืบหน้าในการเดินหน้ารับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำประชามติ ว่า กรอบงานและแผนงานลงตัวหมดแล้ว มีปฏิทินแผนงาน ดังนี้ 1.วันที่ 30 ต.ค.ร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ของวุฒิสภา โดยจะไปรับฟังความคิดเห็น และร่วมกับคณะกรรมาธิการฯ ออกแบบสอบถามกับสมาชิกสภาทั้งหมด ขอความเห็นเกี่ยวกับเรื่องการทำประชามติ และรัฐธรรมนูญ 2.วันที่ 2 พ.ย. ร่วมประชุมกับกมธ.การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ของสภาผู้แทนราษฎร โดยจะไปรับฟังความคิดเห็น และร่วมกับกมธ. ออกแบบสอบถามกับสมาชิกสภาทั้งหมด ขอความเห็นเกี่ยวกับเรื่องการทำประชามติ และรัฐธรรมนูญ 3.วันที่ 8 พ.ย. จะเปิดรับฟังความเห็นจากเยาวชนจากมหาวิทยาลัยต่างๆ และเยาวชนที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง ที่ทำเนียบรัฐบาล
นายนิกร กล่าวอีกว่า 4.วันที่ 10 พ.ย. จะเป็นการรับฟังประชาชนกลุ่มต่างๆ ทั้ง ผู้ใช้แรงงงาน ทหาร ตำรวจ สื่อสารมวลชน สันนิบาตเทศบาล คนพิการ และกลุ่มความหลายกหลายทางเพศ อีกทั้งจะมีกลุ่มเอ็นจีโอต่างๆ อาทิ สมัชชาคนจน และไอลอว์ ที่ทำเนียบรัฐบาล 5.วันที่ 14 พ.ย. คณะอนุกรรมการชุดรับฟังฯ จะเดินทางไปรับฟังความเห็นต่างของคณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ที่พรรคก้าวไกล ว่ามีข้อโต้แย้งอย่างไร 6.วันที่ 20 พ.ย. ไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในภาคอีสาน โดยมีตนเป็นแกนนำและคณะอนุกรรมการซึ่งเป็นคณะทำงานเป็นผู้เดินทางไปรับฟังความเห็นของกลุ่มเกษตรกร สภาตำบล กลุ่มแม่บ้าน จ. สกลนคร
นายนิกร กล่าวอีกว่า 7. วันที่ 23 พ.ย.ออกรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในภาคกลาง โดยมีนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อนุกรรมการชุดรับฟังฯ เป็นแกนนำ ไปรับฟังความเห็นของประชาชนในกลุ่มอุตสาหกรรมและแรงงาน ซึ่งยังไม่ได้กำหนดว่าจะเป็นที่จ.ชลบุรีหรือฉะเชิงเทรา ส่วนที่ภาคเหนือก็จะเป็นอนุกรรมการชุดรับฟังฯ ที่อยู่ที่ จ.เชียงใหม่ โดยจะรับฟังคนเหนือ พื้นที่ท่องเที่ยว และกลุ่มชาติพันธุ์ 8.วันที่ 7 ธ.ค. ไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในภาคใต้ โดยมีนายเจือ ราชสีห์ และนายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท เป็นแกนนำคณะทำงาน รับฟังความเห็นของชาวมุสลิมและพื้นที่ชายแดนใต้ ที่จ.สงขลานายนิกร กล่าวว่า เมื่อคณะอนุกรรมการชุดรับฟังฯ ดำเนินการตามแผนงานดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว หลังจากนั้นเมื่อเปิดประชุมสภาฯ ในสมัยหน้า เราต้องการสอบถามสมาชิกรัฐสภา 100 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นคงจะต้องใช้เวลา 1 สัปดาห์ เพื่อสอบถามความคิดเห็น เพราะสมาชิกรัฐสภาเป็นคนที่จะต้องลงมติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนธ.ค.และหลังจากนั้นในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนธ.ค.ก่อนขึ้นปีใหม่ จะมีการเรียกจะประชุมคณะกรรมการอีกชุดหนึ่ง ทั้งนี้คณะอนุกรรมการอีกชุด จะประชุมในวันที่ 8 พ.ย.จะประชุมเพื่อพิจารณาเกี่ยวกับข้อกฎหมาย เพื่อสรุปเรื่องข้อกฎหมายและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะฟังสักกี่ครั้ง จะแก้อย่างไร และค่าใช้จ่ายในการทำประชามติ เชิญกกต.มาว่าจะใช้เวลาเท่าใด ใช้งบประมาณเท่าไหร่ ซึ่งก็พยายามให้ประหยัดที่สุด ซึ่งเมื่อได้ข้อสรุปก็รอความคิดเห็นที่ไปรับฟังมาจากส่วนต่าง ๆ มาสรุปตั้งคำถามแล้วส่งมอบให้กับคณะรัฐมนตรีในช่วงต้นปี เพื่อให้ครม.สามารถออกเป็นคำถามในการทำประชามติต่อไป
เมื่อถามว่า เป้าหมายการทำประชามติยังอยู่ในกรอบช่วงไตรมาสแรกปี 2567 อยู่หรือไม่ นายนิกร กล่าวว่า ตรงนี้เป็นการสรุปของคณะกรรมการชุดใหญ่ แล้วพอขึ้นปีใหม่มาเราก็ทำเป็นรายงานเสนอต่อครม.เลยว่าควรจะมีคำถามอย่างไร ออกเป็นประชามติเพื่อนำไปสู่การออกประชามติโดยคณะรัฐมนตรีต่อไป คิดว่าเราจะเปิดงานสิ้นปี เราปิดได้ ซึ่งคิดว่าน่าจะตั้งใจกันไว้ว่าประมาณไตรมาสแรก ของปี 2567 ก็น่าจะได้เริ่มทำประชามติได้ ซึ่งเวลาการทำประชามติเป็นสภาพบังคับซึ่งจะคุยประมาณว่าไม่น้อยกว่า 90 วันและไม่มากกว่า 120 วัน มันเป็นสภาพบังคับตามกฎหมายการทำประชามติ
“ทุกส่วนที่ไปที่ประสานไป เขายินดีร่วมมือหมด พร้อมให้ความคิดเห็น แต่งานนี้เราถอดความเป็นพรรคการเมืองออก ถอดความเป็นรัฐบาล หรือฝ่ายค้านออก เพราะเป็นงานร่วมกัน ถือว่าเป็นภารกิจสำคัญ” นายนิกร กล่าว