กรรมการสภาองค์กรของผู้บริโภคจี้ อย.ยกเครื่องการทำงานใหม่ปมแจ้งเตือนนมยี่ห้อดังตกมาตรฐานล่าช้า 7 เดือน แนะผลตรวจวิเคราะห์ออกต้องรีบแจ้งเตือนประชาชนทันที
จากกรณีเมื่อวันที่ 16 ต.ค.66 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เผยแพร่ข่าวแจกต่อสื่อมวลชนระบุว่า ได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์นมของสถานที่จำหน่ายในเขตกรุงเทพมหานคร ส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบนมเข้าข่ายเป็นอาหารปลอม โดยฉลากระบุรายละเอียดผลิตภัณฑ์ ดังนี้ ผลิตภัณฑ์เอนฟาโกร เอพลัส มายด์โปร ดีเอชเอ พลัส เอ็มเอฟจีเอ็ม โปร 4 วิท ทู-เอฟแอล เครื่องหมายการค้า ผลิตภัณฑ์นมชนิดละลายทันที เลขสารบบอาหาร 20-1-03444-5-0019 วันผลิต 05 04 2022 ควรบริโภคก่อน 05 10 2023 ผู้ผลิต บริษัท มี้ด จอห์นสัน นิวทริชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ผลการตรวจวิเคราะห์พบเนื้อนมไม่รวมไขมันร้อยละ 25.44 ของน้ำหนัก และไขมันร้อยละ 12.30 ของน้ำหนัก (มาตรฐานกำหนดมีเนื้อนมทั้งหมดไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของน้ำหนัก สำหรับผลิตภัณฑ์ของนมชนิดแห้ง) ซึ่งไม่เข้ามาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 352) พ.ศ. 2556 เรื่อง ผลิตภัณฑ์ของนม จัดเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารปลอมตามมาตรา 27 (5) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 และ อย. อยู่ระหว่างพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดต่อไป อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบพบว่า อย.เก็บตัวอย่าง 10 รายการส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เมื่อวันที่ 15 ก.พ.66 โดยทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ส่งรายงานให้ อย.วันที่ 16 มี.ค.66 โดยตั้งแต่รับตัวอย่างจนออกรายงานผลใช้เวลาทั้งหมด 21 วันทำการ อย่างไรก็ตามทาง อย. ได้ออกข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งผลการตรวจเมื่อวันที่ 16 ต.ค.66 หรือ ประมาณ 7 เดือนหลังได้รับผลตรวจวิเคราะห์ อีกทั้งนมยี่ห้อดังกล่าวหมดอายุไปแล้วตั้งแต่วันที่ 5 ต.ค.66 นั้น
เมื่อวันที่ 18 ต.ค.66 ภก.ภาณุโชติ ทองยัง กรรมการสภาองค์กรของผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า เป็นภาพสะท้อนการทำงานที่มีปัญหาในการเตือนภัยผู้บริโภค ทั้งๆที่ อย.จะประชาสัมพันธ์ตัวเองและมีแผนการทำงานเกี่ยวกับการเตือนภัยเร่งด่วน สภาองค์กรของผู้บริโภคเคยสะท้อนและเรียกร้องให้มีกลไกในการเฝ้าระวัง เตือนภัยอย่างเร่งด่วนมาแล้ว และยินดีเป็นเครือข่ายช่วยในการดำเนินงานด้วย สำหรับกรณีนี้ 1.อย.คงต้องรีบไปดูด้วยว่าปัญหามันอยู่ตรงไหน ขั้นตอนการส่งต่อข้อมูลมันหน่วงตรงไหน 2.อาจต้องวิเคราะห์ด้วยผู้รับผิดชอบรู้สึกหรือไม่ว่าเป็นปัญหาเร่งด่วน 3.ควรปรับปรุงการเขียนข่าวประชาสัมพันธ์ด้วย เพราะหลายชิ้นอ่านแล้วผู้บริโภคได้ประโยชน์น้อย เพราะขาดรายละเอียด
"กรณีนี้มันคือภาพสะท้อนประสิทธิภาพการทำงานของ อย. อันที่จริงถ้าผลตรวจวิเคราะห์ตกมาตรฐาน ควรรีบออกมาประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนทันที ผมเชื่อว่าทางบริษัทต่าง ๆ ก็ยินดีให้ความร่วมมือกับ อย.ในการเก็บผลิตภัณฑ์ออกจากท้องตลาดอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามคงตอบยากว่าการแจ้งเตือนล่าช้า 7 เดือนเอื้อประโยชน์ หรือทำงานไม่มีประสิทธิภาพ แต่ที่แน่ ๆข่าวการประชาสัมพันธ์นี้ผู้บริโภคแทบไม่ได้ประโยชน์เลย อยากให้เรื่องนี้เป็นกระจกสะท้อน อย.ยกเครื่องการทำงานใหม่ ไปดูว่าปัญหาเกิดจากขั้นตอน หรือ ตรงไหน" ภก.ภาณุโชติ กล่าว