"รมว.สธ.-เลขาธิการ อย."เคลียร์ปมแจ้งเตือนนมยี่ห้อดังตกมาตรฐานช้า 7 เดือน

2023-10-18 16:57:24

"รมว.สธ.-เลขาธิการ อย."เคลียร์ปมแจ้งเตือนนมยี่ห้อดังตกมาตรฐานช้า  7 เดือน

Advertisement

"รมว.สธ.-เลขาธิการ อย."เคลียร์ปม อย.แจ้งเตือนนมยี่ห้อดังตกมาตรฐานล่าช้า  7 เดือน เผยสื่อสารกับบริษัทผู้ผลิต ส.ค.66 หลังทราบตรวจวิเคราะห์  มี.ค.66 ขอดูรายละเอียดมีการดำเนินการทาง ก.ม.กับบริษัทหรือยัง

จากกรณีเมื่อวันที่ 16 ต.ค.66 ที่ผ่านมา  สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เผยแพร่ข่าวแจกต่อสื่อมวลชนระบุว่า ได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์นมของสถานที่จำหน่ายในเขตกรุงเทพมหานคร ส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบนมเข้าข่ายเป็นอาหารปลอม โดยฉลากระบุรายละเอียดผลิตภัณฑ์ ดังนี้ ผลิตภัณฑ์เอนฟาโกร เอพลัส มายด์โปร ดีเอชเอ พลัส เอ็มเอฟจีเอ็ม โปร 4 วิท ทู-เอฟแอล เครื่องหมายการค้า ผลิตภัณฑ์นมชนิดละลายทันที เลขสารบบอาหาร 20-1-03444-5-0019 วันผลิต 05 04 2022 ควรบริโภคก่อน 05 10 2023 ผู้ผลิต บริษัท มี้ด จอห์นสัน นิวทริชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ผลการตรวจวิเคราะห์พบเนื้อนมไม่รวมไขมันร้อยละ 25.44 ของน้ำหนัก และไขมันร้อยละ 12.30 ของน้ำหนัก (มาตรฐานกำหนดมีเนื้อนมทั้งหมดไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของน้ำหนัก สำหรับผลิตภัณฑ์ของนมชนิดแห้ง) ซึ่งไม่เข้ามาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 352) พ.ศ. 2556 เรื่อง ผลิตภัณฑ์ของนม จัดเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารปลอมตามมาตรา 27 (5) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 และ อย. อยู่ระหว่างพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดต่อไป อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบพบว่า  อย.เก็บตัวอย่าง 10 รายการส่งตรวจวิเคราะห์ที่สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร (สคอ.) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 15 ก.พ.66 เจ้าหน้าทีสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร เริ่มวิเคราะห์วันที่ 21 ก.พ. 66 ส่งรายงานให้ อย.วันที่ 16 มี.ค.66 ตั้งแต่รับตัวอย่างจนออกรายงานผลใช้เวลาทั้งหมด 21 วันทำการ  อย่างไรก็ตามทาง อย. ได้ออกข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งผลการตรวจเมื่อวันที่ 16 ต.ค.66 หรือ ประมาณ 7 เดือนหลังได้รับผลตรวจวิเคราะห์จาก สคอ.  อีกทั้งนมยี่ห้อดังกล่าวหมดอายุไปแล้วตั้งแต่วันที่ 5 ต.ค.66 ที่ผ่านมาตามที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น

เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 66  ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า  การตรวจสอบผลิตภัณฑ์ หรือสิ่งส่งตรวจต่างๆ แล้วแต่ประเภท และชนิด เมื่อมีการส่งมาแล้วก็จะมีการส่งไปตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และรายงานผลไปยังหน่วยงานที่ทำหน้าที่ควบคุมผลิตภัณฑ์ คือ อย. เพื่อสื่อสาร หรือบอกผลการตรวจสอบให้กับผู้ส่งตรวจ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือประกาศเป็นสาธารณะ และมีมาตรการดำเนินการไป เช่น หากพบการปนเปื้อน ติดเชื้อ หมดอายุ ก็ใช้อำนาจหน้าที่ในการสั่งเก็บ เรียกเก็บออกจากตลาด 

เมื่อถามถึงการเอื้อประโยชน์กับเอกชนหรือไม่จากกรณีการแจ้งเตือนล่าช้า นพ.ชลน่าน  กล่าวว่า  เราให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภคอยู่แล้ว อย.มีหน้าที่โดยตรง เมื่อได้รับแจ้งแล้วก็ต้องทำหน้าที่ในการพิสูจน์ทราบ การประสานการภายในจะเน้นให้กระชับ รัดกุม รวดเร็ว อย.ต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้ หลังส่งตรวจแล้ว ผลเป็นอย่างไร เพื่อนำมาขับเคลื่อนการทำหน้าที่ของตัวเองต่อ เพื่อบอกว่าผลิตภัณฑ์นั้นได้มาตรฐานหรือไม่ หมดอายุหรือเปล่า ส่วนข้อสังเกตว่า จะมีผลประโยชน์เกี่ยวเนื่องหรือไม่ ท่านเลขาธิการ อย. คงต้องไปตรวจสอบในรายละเอียด แต่เรียนด้วยความเคารพว่า การทำหน้าที่ของส่วนราชการ เราที่มีหน้าที่โดยตรง วิธีการแบบนี้ค่อนข้างยากในการที่จะไปเอื้อประโยชน์ เพราะเป็นความผิดชัดแจ้ง ถ้าเขาจะเอื้อประโยชน์ เขาต้องตรวจและแจ้งโดยเร็ว เพราะการแจ้งช้า แทนที่ผู้ผลิตจะได้ประโยชน์ กลับต้องเสียประโยชน์ คือ 1. ความน่าเชื่อถือ 2. แจ้งแล้วอาจจะถูกระงับการผลิต มันไม่ได้เกิดประโยชน์ คิดมุมบวก ทำหน้าที่ให้ถูกต้องจะเป็นประโยชน์มากกว่า

ด้าน  นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รักษาการเลขาธิการ อย. กล่าวว่า หลังได้รับแจ้งผลการตรวจสอบ ก็พยายามแจ้งให้ประชาชนทราบเร็วที่สุด ส่วนเรื่องนี้ ตนกำลังมีการตรวจสอบภายใน ทราบเบื้องต้นว่า มีการรายงานผลิตภัณฑ์บางรายการ จากที่ส่งมาตรวจทั้งหมด 22 ตัวอย่าง เจ้าหน้าที่ก็มีการรวบรวม ซึ่งการรวบรวมอาจะมีความล่าช้าบางกระบวนการ ซึ่งจะพยายามทำให้เร็วขึ้นเพื่อแจ้งเตือนประชาชน อย่างไรก็ตาม การคุ้มครองประชาชนนั้น การแจ้งเตือนประชาชนต้องทำให้เร็วที่สุด

เมื่อถามว่า กรณีนี้มีการแจ้งเตือนตอนที่ผลิตภัณฑ์ลอตนั้นหมดอายุไปแล้ว ซึ่งไม่ทันกับการคุ้มครองประชาชน นพ.ณรงค์ กล่าวว่า น่าจะเป็นเรื่องความพ้องกัน เพราะจากการตรวจสอบเบื้องต้น มีการสื่อสารสารกับทางผู้ผลิตตั้งแต่เดือน ส.ค.66  ที่ผ่านมา ทั้งนี้เวลาดูผลิตภัณฑ์จะดู 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคือมาตรฐานสถานที่ผลิต ซึ่งโรงงานนี้ได้มาตรฐาน GMP แล้วตามปกติ โรงงานที่ได้มาตรฐานก็จะผลิตผลัตภัณฑ์ได้มาตรฐาน มีบางลอตที่อาจจะมีประเด็นปัญหา อาจจะมีช่องว่างของระบบ ในส่วนนี้จึงขอไปตรวจสอบ และการตรวจสอบน่าจะเป็นบทเรียนในการกลับมาทำให้ระบบมีประสิทธิภาพสร้างความมั่นใจให้ประชาชน

ต่อข้อถามว่าการแจ้งเตือนประชาชนอาจจะล่าช้า แต่ในส่วนการเก็บสินค้าออกจากตลาดนั้น ได้ดำเนินการอย่างไรหรือไม่ นพ.ณรงค์ กล่าวว่า หลังจากแจ้งเตือนแล้ว ก็ต้องเก็บออกจากตลาด หากยังไม่ได้แจ้งเตือนก็ไม่ได้เก็บ และเมื่อแจ้งแล้ว ลอตใหม่ก็จะไม่สามารถผลิตได้ ทั้งนี้ตนขอดูรายละเอียดเพิ่มเติม ส่วนที่ได้รับนโยบายมาจาก รมว.สาธารณสุข เราพยายามสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ทำให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด ถ้าเราแจ้งเตือนได้เร็ว ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ก็จะถูกนำออกจากตลาดได้เร็ว

เมื่อถามว่า ลอตที่ตรวจพบปัญหามีการผลิตออกมาจำนวนเท่าไหร่ มีการซื้อขายกันไปแล้วจำนวนเท่าไหร่ นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ยังไม่ได้ตรวจสอบถึงตรงนั้น ต้องขอเวลาตรวจสอบ

ต่อข้ถามว่าลอตที่มีปัญหาคุณภาพ มีผลกระทบต่อสุขภาพเด็กที่ดื่มนมดังกล่าวหรือไม่ นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ที่เข้าไปดูนั้น เป็นสัดส่วนไขมันที่ไม่ได้มาตรฐาน ถ้าเป็นผลกระทบจริงๆ คงมีอาการทางกายอะไรมาให้เห็น แต่ถึงไม่มีปัญหาอะไร เราก็เฝ้าระวัง และตอนนี้เราก็มีการเฝ้าระวัง แต่จนถึงตอนนี้เราก็เฝ้าระวังต่อ ให้ความมั่นใจว่า เราจะตรวจสอบ และดูกระบวนการในการที่จะทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

เมื่อถามว่า มีการดำเนินการกับทางผู้ผลิตอย่างไรบ้างหรือไม่ นพ.ณรงค์ กล่าวว่า แจ้งกับทางผู้ผลิตแล้ว ว่า เขาจะไม่สามารถผลิตไปต่อเนื่องจากตรงนี้ได้ ต้องมีการแก้ไข และหารือในทางรายละเอียด เมื่อถามย้ำว่า มีการดำเนินการทางกฎหมายอะไรหรือไม่ เลขาธิการ อย. กล่าวว่า ขอดูในรายละเอียดก่อนว่า เขาดำเนินการแล้วเป็นช่องว่างของการผลิต หรือการจงใจ

ผู้สื่อข่าวถามว่า เนื่องจากนมดังกล่าวเป็นบริษัทใหญ่ คนก็ตั้งคำถามกับ อย.เรื่องการแจ้งเตือนล่าช้า นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ขอดูในรายละเอียดก่อนว่าเป็นอย่างไร ยังไม่ปักใจว่าเป็นการเอื้อประโยชน์หรือไม่