นายกฯติดตามสถานการณ์อุทกภัย จ.อุบลราชธานี สั่งพัฒนาระบบเตือนภัย แจ้งข่าวสาร เตรียมการฟื้นฟูหลังประสบอุทกภัย มั่นใจการรับมือสถานการณ์น้ำปีนี้จะไม่ท่วมหนักเหมือนปีที่แล้ว
เมื่อ เวลา 13.20 น. วันที่ 6 ต.ค.66 ที่สำนักงานชลประทานที่ 7 อ.มืองอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัย พร้อมสั่งการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยมีนายไชยา พรหมา รมช.เกษตรและสหกรณ์ นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รมช.มหาดไทย และผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวมอบนโยบายว่า จ.อุบลราชธานีสภาพบ้านเมืองประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากมาโดยตลอด ซึ่งได้รับทราบปัญหานี้มาตั้งแต่ก่อนจะเข้ามาสู่เวทีการเมืองว่าที่ผ่านมาจะแก้ไขแบบบูรณาการในระยะยาวไม่ได้ ซึ่งตนเองมีความเข้าใจและห่วงใยกับปัญหาที่หมักหมมมานาน และไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้น ที่ผ่านมาประเทศไทยพบน้ำท่วมที่จังหวัดแพร่และจังหวัดสุโขทัยเป็นจำนวนมาก โดยขณะนี้ได้ดำเนินการป้องกัน และอยู่ในช่วงเวลาของการเยียวยาและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น จ.อุบลราชธานีน้ำกำลังจะเริ่มท่วม ซึ่งยังไม่ถึงฤดูกาลที่น้ำจะมามาก แม้น้ำจะเริ่มมาแล้วแต่ก็ไม่มากเท่ากับปีที่แล้ว ทั้งนี้ ทางสำนักนายกฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มีข้อแนะนำในหลายข้อ โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อดำเนินการป้องกันไว้ก่อน ก็อาจจะไม่ทำให้เกิดวิกฤติได้ ซึ่งวิกฤตน้ำท่วมที่จังหวัดอุบลราชธานีไม่ใช่แค่เสียหายทางด้านเศรษฐกิจแต่เกี่ยวข้องกับทางด้านเกษตรกรรมอย่างมหาศาล รวมถึงสถานการณ์น้ำท่วมขังบางพื้นที่นานนับสัปดาห์ ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัย ไม่สะดวกสบาย และมีโรคภัยไข้เจ็บที่จะตามมา
นายกรัฐมนตรีย้ำว่า รัฐบาลชุดนี้ตระหนักดีว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นต่อไปอีกเรื่อย ๆ ไม่ได้ แต่รัฐบาลเข้ามาบริหารจัดการได้ไม่ถึงเดือน ถือว่าเพิ่งจะได้เข้ามาทำงาน ดังนั้น การแก้ไขปัญหาจึงเป็นเรื่องการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งได้มีการลงพื้นที่ติดตามดูสถานการณ์อุทกภัย โดยมีความเชื่อว่าการแก้ไขปัญหาระยะสั้นยังทำได้ดี ทำได้มากกว่าที่เคยมา และทำได้มากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน ซึ่งจะนำข้อมูลมาวางแผนโดยเฉพาะระยะสั้นทำอย่างไรไม่ให้ท่วมเหมือนปีที่แล้ว และให้น้ำท่วมน้อยลงไปเรื่อย ๆ
ภายหลังรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นายกรัฐมนตรี สั่งการว่า เมื่อสถานการณ์เกิดขึ้นแล้วต้องมีการแจ้งเตือนภัยในพื้นที่ ขอให้พัฒนาระบบเตือนภัยและแจ้งข่าวสาร รวมถึงตรวจสอบความมั่นคงของโครงสร้าง เตรียมการช่วยเหลือประชาชน เตรียมการฟื้นฟูหลังประสบอุทกภัย และรายงานความคืบหน้าให้รัฐบาลได้รับทราบ โดยส่วนตัวเชื่อมั่นและมีความหวังว่าระหว่างนี้จนถึงฤดูฝน ทุกคนทำเต็มที่แล้วหรือยัง และทำอย่างไรให้ท่วมน้อยที่สุดและระบายน้ำได้เร็วที่สุด ทั้งนี้ ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีสถานการณ์น้ำจะท่วมในช่วงต้นเดือนตุลาคม ดังนั้น จะต้องมาดูในเรื่องของมิติการระบายน้ำที่ต้องทำให้ดีขึ้น ต้องขอบคุณทุกคน และอยากให้ลองใช้วิธีการใหม่ ๆ ในการแก้ไขปัญหาดูบ้าง
ด้านนายเกรียง กล่าวถึงการบริหารจัดการน้ำของจังหวัดอุบลราชธานีและในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือว่า ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการระบายน้ำโดยต้องเร่งระบายน้ำช่วงต้นฤดู คือตั้งแต่เดือนมิถุนายน เพื่อระบายน้ำออกจากเขื่อนใหญ่ในพื้นที่ ให้มีพื้นที่สามารถรองรับน้ำในฤดูฝน ซึ่งที่ผ่านมาเขื่อนใหญ่ ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือกักเก็บน้ำไว้จำนวนมาก แต่ไม่สามารถระบายน้ำออกใช้เพื่อการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดน้ำท่วมซ้ำซากเมื่อถึงฤดูฝน
ต่อมาเวลา 15.00 น. ณ สถานีตรวจวัดระดับน้ำ (M7) บริเวณเชิงสะพานเสรีประชาธิปไตย ต.ในเมือง อ.เมืองอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี นายเศรษฐา ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงการเดินทางลงพื้นที่ มาติดตามสถานการณ์น้ำ จ.อุบลราชธานี และรับฟังบรรยายสรุปจากหน่วยงานต่าง ๆ ว่า มีความน่าเป็นห่วงอยู่เพราะปีที่ผ่านมา พื้นที่ที่เรายืนอยู่ตรงนี้ น้ำสูงขึ้นมาอีก 2 ฟุต และขังอยู่ประมาณ 1 เดือน เราจะให้เหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นอีกในปีนี้ไม่ได้ มาครั้งนี้รัฐมนตรีช่วยฯ ส.ส. หน่วยงานรัฐ ผู้นำหน่วยงานรัฐมากันครบถ้วน ต่างยืนยันว่ามีความพร้อมกับเหตุการณ์ ถ้ามีอุทกภัยเกิดขึ้น หน่วยงานรัฐพร้อมที่จะช่วยเหลือพี่น้องประชาชนทุกมิติ
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าไม่ต้องมีการช่วยเหลือจะดีกว่า คือไม่มีน้ำท่วม วันนี้มีหน่วยงานรัฐมาหลายหน่วยงาน ได้มีการวางแผนที่จะบริหารจัดการเรื่องน้ำท่วม โดยที่อาจจะต้องมีการลองวิธีการใหม่ ๆ บ้าง โดยที่เราก็ต้องมั่นใจว่าการท่วมจะต้องไม่มี หรือถ้ามีก็น้อยมาก ในระยะเวลาที่น้อยมาก ตอนนี้เรื่องของจำนวนปริมาณน้ำที่ไหลเข้ามาที่จังหวัดอุบลราชธานีเกือบจะเป็นที่แน่นอนว่าเดือนตุลาคมเป็นเดือนที่ยากที่สุด ตอนนี้เพิ่งอยู่ช่วงต้นเดือน จะมีน้ำไหลเข้ามาอีกมาก ฉะนั้น การบริหารจัดการน้ำเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในตอนนี้ วันนี้ได้มาให้กำลังใจหน่วยงานรัฐซึ่งทราบว่าทุกคนทำงานอย่างเต็มที่
ผู้สื่อข่าวถามว่า ช่วงเวลาที่มีอยู่ในการเตรียมการรับมือระยะสั้น ให้คำมั่นได้หรือไม่ว่า หากเกิดน้ำท่วมปีนี้จะไม่หนักเท่าปีก่อน นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า มั่นใจ การรับมือระยะสั้นปีนี้น้ำจะไม่ท่วมหนักเหมือนปีที่แล้ว เพราะมีมาตรการบริหารจัดการน้ำให้แตกต่างจากปีที่ผ่านมา โดยการบริหารจัดการเรื่องน้ำมีหลายวิธี บางวิธีเป็นวิธีเดิม ๆ ที่ทำกันอยู่ดีอยู่แล้ว แต่จะต้องมีวิธีการที่ต้องแปลกใหม่บ้าง ระยะเวลาในการเก็บกักน้ำที่อาจจะต้องปล่อยให้เร็วขึ้นบ้าง อย่ากลัวว่าจะแล้ง จังหวัดอุบลราชธานีเกือบจะเรียกว่ามีวิทยาศาสตร์ทำนายปริมาณน้ำฝนระยะยาวว่าเดือนไหนฝนจะตกเยอะ เพราะฉะนั้นการปล่อยน้ำอาจจะปล่อยได้เร็วขึ้น การกักอาจจะกักได้ช้าลง เพื่อให้ปริมาณเขื่อนรองรับน้ำได้ เพื่อให้ป้องกันน้ำท่วมได้ เป็นต้น ทั้งนี้ จะต้องเตรียมบริหารความเสี่ยง ซึ่งได้สั่งการให้ดูเรื่องความเสี่ยงให้ดีด้วย
ส่วนเรื่องการเตรียมการรับน้ำของพื้นที่ภาคกลาง นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ได้ดูเรื่องการบริหารจัดการน้ำแล้ว เช่น ที่จังหวัดสุโขทัย ได้รับรายงานว่าสถานการณ์น้ำคลี่คลายแล้ว มีน้ำท่วมประมาณ 5 วัน ซึ่งหวังว่าพืชผลจะไม่เสียหายมาก
ส่วนในเรื่องการทำโครงการขนาดใหญ่ที่ จ.อุบลราชธานี นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า จะต้องดูดี ๆ ว่า อะไรที่ลงทุนแล้วคุ้มค่าที่สุด ได้ผลตอบแทนดีที่สุด ซึ่ง 2-3 โครงการเป็นการเพิ่มช่องทางการระบายน้ำ เพื่อบรรเทาปริมาณน้ำที่จะผ่านเข้ามาตัวเมือง ซึ่งแผนการดำเนินงานน่าจะทันในรัฐบาลนี้ เพราะเราดูอยู่แล้วว่าอะไรที่สามารถทำได้เร็วก็พยายามทำให้เร็วที่สุด เพราะตระหนักดีถึงความทุกข์ ถ้าน้ำท่วมมาแล้วจะเกิดเสียหายอย่างมาก