โรคสมาธิสั้น ผู้ใหญ่ก็เป็นได้
โรคสมาธิสั้น หลายคนอาจคิดว่าเกิดขึ้นได้กับเด็กเล็กเท่านั้น โดยจะมีอาการวอกแวกง่ายไม่ค่อยจดจ่อกับอะไรนาน ๆ แต่หารู้ไม่ว่าอาการเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นกับผู้ใหญ่ได้เหมือนกัน ซึ่งลักษณะของอาการจะทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับการวางแผน การแก้ไขปัญหา ไม่สามารถจัดการกับเวลาได้เมื่อต้องทำงานที่มีกำหนดเวลา ทำงานไม่เสร็จ เพราะมีความผิดปกติของสมองส่วนหน้าที่เกี่ยวข้องกับความคิด การวางแผน การบริหารจัดการชีวิตในเรื่องต่าง ๆ
โรคสมาธิสั้น
เกิดจากสมองส่วนหน้า ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมสมาธิและพฤติกรรมทำงานลดลง ทำให้มีปัญหากับการทำงานที่ต้องใช้สมาธิ อยู่นิ่งนาน ๆ ไม่ได้ มักมีปัญหาในการจัดการกับเวลาเมื่อต้องทำงาน เช่น ทำงานไม่ทัน ขี้หลงขี้ลืม เบื่อ หรือหงุดหงิดง่าย
โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ มีสาเหตุมาจากอะไร ?
-พันธุกรรม เช่น พ่อแม่ พี่น้อง เป็นโรคสมาธิสั้น หรือโรคทางจิตเวชอื่น ๆ
-ความผิดปกติในระบบประสาท
-การสัมผัสความเสี่ยงจากสิ่งแวดล้อมในระหว่างแม่ตั้งครรภ์ เช่น ได้รับสารตะกั่วหรือโลหะ
-การใช้แอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ในระหว่างตั้งครรภ์
-คลอดก่อนกำหนด
-น้ำหนักแรกเกิดต่ำ
โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ
-มีอาการสมาธิสั้นมาตั้งแต่เด็ก แต่ได้รับการรักษามาเป็นอย่างดี ผู้ใหญ่ที่มีโรคสมาธิสั้นประเภทนี้ จะสามารถใช้ชีวิตได้เป็นปกติ อาจมีอาการสมาธิสั้นหลงเหลืออยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้วจะสามารถควบคุมตัวเองได้
-มีอาการสมาธิสั้นมาตั้งแต่เด็ก แต่ไม่ได้รับการรักษาที่ดี ผู้ใหญ่ที่เป็นโรคสมาธิสั้นประเภทนี้ยังสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้ แต่อาจมีพัฒนาการช้าหรือมีอารมณ์ซึมเศร้า ต้องรับประทานยาเป็นประจำและต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ
-มีอาการสมาธิสั้นตั้งแต่เด็กแบบไม่รู้ตัว ไม่ได้รับการรักษาจนเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีอาการสมาธิสั้นจนมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิต การทำงาน รวมไปถึงการเข้าสังคม
ผศ.นพ.คมสันต์ เกียรติรุ่งฤทธิ์
ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล