เตือนพายุฤดูร้อน 6-9 มี.ค. เหนือ-อีสานลูกเห็บตก

2018-03-06 10:55:23

เตือนพายุฤดูร้อน 6-9 มี.ค. เหนือ-อีสานลูกเห็บตก

Advertisement

กรมอุตุนิยมวิทยาเตือนพายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน 6-9 มี.ค. ระวังพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ลูกเห็บตกบางพื้นที่ในภาคเหนือและอีสาน

เมื่อวันที่ 6 มี.ค. นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา "พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 6-9 มี.ค. 2561" ฉบับที่ 5 ระบุว่า ในช่วงวันที่ 6-9 มี.ค. 2561 ประเทศไทยจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง กับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง ในขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงในช่วงวันและเวลาดังกล่าว สำหรับเกษตรกรควรระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย โดยจะมีผลกระทบดังนี้

ในช่วงวันที่ 6-7 มี.ค. 2561

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จ.เลย หนองบัวลำภู หนองคาย อุดรธานี บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาญเจริญ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคตะวันออก: จ.นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคกลาง: จ.นครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา

รวมทั้ง กทม. และปริมณฑล 


ในช่วงวันที่ 8-9 มีนาคม 2561

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จ.เลย หนองบัวลำภู ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคเหนือ: จ.เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ลำพูน ลำปาง ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร และเพชรบูรณ์ ฃ

ภาคกลาง: จ.นครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี รวมทั้ง กทม. และปริมณฑล

ภาคตะวันออก: จ.นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคใต้:จ.เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี

ทั้งนี้เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมถึงประเทศเวียดนามตอนบนแล้ว คาดว่าจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและทะเลจีนใต้ในวันนี้ (6 มี.ค. 61) ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อน ทำให้บริเวณดังกล่าวเกิดพายุฤดูร้อนขึ้น โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงกับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่