"พริษฐ์"กังวลตั้ง คกก.ศึกษาประชามติรัฐธรรมนูญ ยื้อเวลา ยอมต่ออำนาจเดิม
เมื่อวันที่ 14 ก.ย.66 นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงข้อกังวลต่อกรณีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการมอบหมายให้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เป็นผู้รับผิดชอบแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติว่า ในการประชุม ครม. นัดแรก ของรัฐบาลนายเศรษฐา ประเด็นเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นหนึ่งในประเด็นที่สังคมจับตามอง เนื่องจากพรรคเพื่อไทยเคยออกแถลงการณ์เพียง 43 วันก่อนหน้านี้ คือเมื่อวันที่ 2 ส.ค. ในวันที่พรรคเพื่อไทยฉีก MOU กับพรรคก้าวไกลและพันธมิตร 8 พรรค เพื่อจัดตั้งรัฐบาลที่ไม่มีก้าวไกล ว่าในรัฐบาลเพื่อไทยที่ไม่มีก้าวไกล จะมีมติ ครม.ในการประชุมครั้งแรก ให้มีการทำประชามติ และจัดตั้ง สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาจากการประชุม ครม. เมื่อวานกลับเป็นเพียง ข้อสั่งการจากนายกรัฐมนตรี(ไม่ใช่ มติ ครม.) ที่มอบหมายให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เป็นผู้รับผิดชอบแต่งตั้ง คณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ โดยยึดตามแนวทางของศาลรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ โดยจะใช้เวทีรัฐสภาในการหารือรูปแบบแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทำประชามติเพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนร่วมออกแบบกฎกติกาที่เป็นประชาธิปไตยร่วมกัน
นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า ในบางกรณี ประชาชนบางส่วนอาจจจะพอยอมรับได้ที่ผู้นำรัฐบาลมีการย้อนศรจากสิ่งที่เคยได้พูดไว้ หากเป็นไปเพื่อให้รัฐบาลได้มีเวลาศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมให้รอบคอบก่อนดำเนินการ แต่สำหรับกรณีเรื่องรัฐธรรมนูญ ตนไม่คิดว่าเหตุผลนี้เป็นเหตุผลที่สามารถมาใช้รองรับได้ ในเชิงข้อเท็จจริง แนวทางเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย ส.ส.ร. และการทำประชามติ ล้วนเป็นประเด็นที่ถูกพิจารณาและถกเถียงกันมาโดยละเอียดมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านกระบวนการที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม จนเคยได้ข้อสรุปที่ทุกฝ่ายทางการเมืองเห็นตรงกันมาแล้ว
นายพริษฐ์ กล่าวว่า ดังนั้นตนจึงมีความกังวล ว่าการตั้งคณะกรรมการศึกษาขึ้นมาอีกชุดจะไม่ได้นำไปสู่การที่เราได้รับทราบมุมมองอะไรที่เพิ่มเติมอย่างมีนัยสำคัญจากที่เคยถูกแสดงมาหมดแล้ว แต่อาจมีวัตถุประสงค์ของการ ยื้อเวลา ย้อนหลักการ ยอมต่ออำนาจเดิม โดยหากรัฐบาลต้องการยืนยันว่าข้อกังวลตนไม่เป็นจริง ตนมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล ว่าสามารถชี้แจงรายละเอียดอะไรเพิ่มเติมได้บ้างเพื่อคลายข้อกังวลดังกล่าวที่ตนมี และประชาชนบางส่วนอาจมีเช่นกัน ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล เพื่อคลายข้อกังวล รัฐบาลควรระบุให้ชัดถึงองค์ประกอบและกระบวนการทำงานของคณะกรรมการศึกษาชุดนี้ เพื่อให้ความมั่นใจว่าความเห็นที่ถูกรับฟังจะเป็นความเห็นที่รอบด้านและเป็นไปตามสัดส่วนของความเห็นที่มีอยู่ในสังคมจริงๆ
“พรรคก้าวไกลยังคงยืนยันว่า หากไม่อยากให้มีการยื้อเวลา ย้อนหลักการ หรือยอมต่ออำนาจเดิม ทางออกที่เรียบง่ายที่สุดคือการที่ ครม. ออกมติให้เดินหน้าจัดทำประชามติเพื่อสอบถามประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่กับหลักการของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย ส.ส.ร. เลือกตั้ง เพราะหากประชาชนทั่วประเทศเห็นชอบอย่างท่วมท้น ผลประชามติและเจตจำนงของประชาชนจะเป็นอาวุธที่สำคัญและชอบธรรมที่สุด ในการฝ่าฟันแรงเสียดทานจากเครือข่ายอำนาจเดิมและเดินหน้าสู่การมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย”นายพริษฐ์ กล่าว
///