โฆษกรัฐบาลแถลงผลการประชุม ครม.นัดแรก นายกฯมีข้อสั่งการเพียบ ทั้งให้ศึกษาแนวทางการประชามติ รธน. ห้ามแตะหมวดพระมหากษัตริย์ มอบ "จุลพันธ์"ดูพักหนี้เกษตรกร เอสเอ็มอีได้รับผลกระทบจากโควิด เร่งนำเข้า ครม.
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 13 ก.ย. ที่ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งที่ 1 ซึ่งมีเรื่องสำคัญต่าง ๆ ดังนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมงานพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ (72 พรรษา) 28 ก.ค. 2567 ให้สมพระเกียรติ และขอให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยได้มอบหมายให้ สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการจัดงานพระราชพิธีเฉลิมฉลองฯ
ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ นายกรัฐมนตรียังได้สั่งการให้ศึกษาแนวทางการทำประชามติ โดยแนวทางให้ความสำคัญกับการทำให้ประชาชนทุกภาคส่วนร่วมออกแบบกฎที่เป็นประชาธิปไตยทันสมัยและเป็นที่ยอมรับร่วมกัน เพื่อให้คนไทยได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยยึดรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่แก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์ และได้มอบหมายให้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เป็นผู้รับผิดชอบแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ โดยยึดเอาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ
ส่วนโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) นายกรัฐมนตรีได้ให้นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เป็นเจ้าภาพ และกำหนดเวลานำเสนอโดยเร็วที่สุด พร้อมมอบหมายกระทรวงการคลัง หารือสำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาแนวทางรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อเร่งจัดทำนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและวางโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้กับประเทศ
นายกรัฐมนตรียังได้มอบหมายให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ดำเนินนโยบายเว้นการลงตราวีซ่าชั่วคราวสำหรับประเทศจีน และคาซักสถาน (VISA Free) รวมถึงการผ่อนปรนเงื่อนไข และขั้นตอนการเข้าประเทศสำหรับการจัดแสดงสินค้า และนิทรรศการ โดยให้มีผลบังคับใช้ภายใน 25 ก.ย.66 เพื่อช่วยสร้างรายได้ และสร้างงานให้กับประชาชนเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กำหนดยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยยุทธศาตร์ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ โดยมีนายกรัฐมนตรี ประธาน โดยได้มอบหมายให้นายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ดำเนินการต่อไป
นายกรัฐมนตรียังได้สั่งการให้ ทุกกระทรวง ทบทวนมติ ครม ก่อนหน้ารัฐบาลชุดนี้ ถ้าไม่มีการทักท้วงภายใน 25 ก.ย.66 จะยกเลิก รวมทั้งสั่งการให้ทุกกระทรวงทบทวนคำสั่ง คสช. ที่เคยบังคับใช้ ถ้าไม่มีการทักท้วงภายใน 9 ต.ค. 66 จะยกเลิก โดยนายกรัฐมนตรีขอให้ยึดหลัก ‘กฎหมายไม่เขียน ถือว่าทำได้’ เป็นหลักการ เพื่อส่งเสริมเสรีภาพ ประชาธิปไตย และอำนวยความสะดวกประชาชน
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังได้สั่งการให้เตรียมความพร้อมสำหรับปรากฏการณ์เอลนีโญ่ (El Nino) ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่อง 2-3 ปีจากนี้ โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นรายจังหวัด และมอบหมายให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เป็นประธานคณะกรรมการ และให้ ดร. ปลอดประสพ สุรัสวดี ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสิ่งแวดล้อม เป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการ
ส่วนนโยบายด้านประมง นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เป็นประธานกรรมการ และจัดตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูทะเลไทยเพื่อความยั่งยืน เพื่อแก้ปัญหาของอุตสาหกรรมประมง โดยให้คำนึงถึงการบริหารทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน
นายกรัฐมนตรียังได้มอบหมายให้ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน นำเสนอมาตรการลดราคาพลังงาน ทั้งค่าไฟฟ้า และน้ำมันเชื้อเพลิง โดยให้มีผลโดยเร็วที่สุด เพื่อเป็นการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของภาคธุรกิจ
ในด้านนโยบายสาธารณสุข ได้มอบหมายให้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อยกระดับโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (โครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค) โดยให้มีผลโดยเร็วที่สุด เพื่อทำให้ระบบสาธารณสุขมีความทันสมัยขึ้น มีประสิทธิภาพและคุณภาพในการดูแลประชาชนที่ดีขึ้น
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้มอบหมายให้ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินนโยบายพักหนี้เกษตรกร และหนี้ของธุรกิจขนาดเล็กและกลาง (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 โดยมีกรอบระยะเวลาไม่เกิน 14 วัน เพื่อนำเสนอแนวทางการดำเนินนโยบายต่อคณะรัฐมนตรี และเพื่อเป็นการเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน และพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ให้แก่ข้าราชการ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติสั่งการให้กรมบัญชีกลางเร่งศึกษารายละเอียด และกำหนดกรอบระยะเวลาการดำเนินงาน ให้มีผลภายในวันที่ 1 ม.ค.67
นายกรัฐมนตรีย้ำถึงความเอาจริง เพื่อให้ปัญหาผู้มีอิทธิพล อาวุธปืน ยาเสพติด และการซื้อขายตำแหน่งหมดไปอย่างเด็ดขาด จากที่เคยมีการสั่งการหลายครั้งเรื่องอาวุธปืน แต่ไม่ปรากฏผล โดยได้มอบหมายให้นาย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ดำเนินการจัดตั้งทีมทำงาน และกำหนดเวลาการนำเสนอโดยเร็วที่สุด โดยผู้ครอบครองอาวุธปืนและอาวุธอื่นๆ ที่ไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ให้นำมามอบแก่ทางราชการที่สถานนีตำรวจที่มีภูมิลำเนาภายใน 30 วัน และหากอาวุธปืนมีทะเบียนถูกต้อง หากจำเป็นต้องพกพา ให้ดำเนินการขออนุญาตพกพาภายใน 30 วัน ตั้งแต่บัดนี้ไป
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังได้กำชับ และขอให้คณะรัฐมนตรีกำกับดูแลการใช้เงินนอกงบประมาณในการไปดูงานต่างๆ ให้มีความเหมาะสม และได้ขอให้ปรับลดขนาดขบวนเดินทางของนายกรัฐมนตรี และผู้ติดตาม เพื่อให้มีผลกระทบกับประชาชนในทุกท้องที่ให้น้อยที่สุดอีกด้วย