"ก้าวไกล"ซัดน้ำมันรั่วหวังภาครัฐถอดบทเรียน

2023-09-07 01:00:35

"ก้าวไกล"ซัดน้ำมันรั่วหวังภาครัฐถอดบทเรียน

Advertisement

"ก้าวไกล"ซัดน้ำมันรั่วชลบุรีเหตุการณ์คล้ายระยอง หวังภาครัฐถอดบทเรียน 

เมื่อวันที่ 6 ก.ย.66 ที่รัฐสภา ส.ส. พรรคก้าวไกล นำโดย นายกฤษฎิ์ ชีวะธรรมานนท์ ส.ส. ชลบุรี เขต 6 นายสหัสวัต คุ้มคง ส.ส. ชลบุรี เขต 7 นายกฤช ศิลปชัย ส.ส. ระยอง เขต 2 นายสว่างจิตต์ เลาหะโรจนพันธ์ ส.ส. ระยอง เขต 5 ร่วมแถลงข่าวกรณีน้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเลในพื้นที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี จากเหตุน้ำมันดิบจากเรือบรรทุกน้ำมันรั่วไหล ขณะขนถ่ายน้ำมันดิบบริเวณทุ่นผูกเรือกลางทะเล หมายเลข 2 (SBM-2) ของโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์

นายกฤษฎิ์ กล่าวว่า น้ำมันรั่วอยู่ห่างจากเกาะสีชังเพียง 2 กิโลเมตร ระหว่างการขนถ่ายน้ำมันของบริษัทไทยออยล์ มีปริมาณน้ำมันรั่วไหลประมาณ 70,000 ลิตร โดยกรมควบคุมมลพิษได้ตรวจสอบและพบว่ามีคราบน้ำมันสลายไปแล้วประมาณ 3,500 ลิตร และมีคราบน้ำมันกระจายตัวถูกพัดเข้าหาฝั่งชายหาดบางพระ ยาวไปจนถึงอ่าวอุดมประมาณ 4 กิโลเมตร แม้จะมีแพลงตอนบลูมสกัดไว้ แต่ก็ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำบริเวณหน้าดิน จึงขอเรียกร้องไปยังผู้ที่ต้องรับผิดชอบว่าจะมีแนวทางแก้ไขอย่างไร และขอร้องเรียนไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมเจ้าท่า ให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาปัญหาแพลงตอนบลูมและการป้องกันน้ำมันรั่วไหล

ด้านนายสหัสวัต กล่าวว่า เหตุการณ์น้ำมันรั่วที่ จ.ชลบุรี มีลักษณะเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นที่ จ.ระยอง โดยขอตั้งข้อสังเกตว่าบริษัทไทยออยล์ได้ปฏิบัติตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของบริษัท ที่มีการกำหนดวิธีการดำเนินการไว้อย่างครบถ้วนและมีมาตรฐานหรือไม่ รวมถึงประกาศกรมเจ้าท่า ที่ 134/2564 เรื่องมาตรการความปลอดภัย การป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำ เนื่องจากน้ำมัน เคมีภัณฑ์ และสารที่เป็นอันตรายประจำท่าเรือ หากบริษัทปฏิบัติตามจริง ก็ไม่น่าส่งผลกระทบร้ายแรงถึงขนาดนี้  เชื่อว่าครั้งนี้จะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่มีการรั่วไหลแบบนี้ จึงขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าการตรวจสอบหลังจากนี้ควรทำอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมา และขอให้มีการรายงานปริมาณน้ำมันรั่วที่แท้จริง พร้อมกันนี้ ขอให้ตรวจสอบข้อมูลที่ได้จากฝั่งเอกชนร่วมกับภาครัฐ ตลอดจนตรวจสอบการใช้สารละลายคราบน้ำมันว่าได้ทำตามขั้นตอนหรือไม่ เพราะเท่าที่มีการตรวจสอบ มีการนำสารเคมีที่ควรใช้ในขั้นตอนสุดท้าย มาใช้ตั้งแต่ขั้นตอนแรก จึงทำให้เกิดความเสียหายและผลกระทบจำนวนมาก รวมทั้งต้องมีการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมทางทะเลและเยียวยาให้กับชาวประมงและผู้ที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นหลายครั้ง แต่ภาครัฐได้ถอดบทเรียนเพื่อนำมาปรับปรุงให้ดีขึ้นหรือไม่

นายสหัสวัต กล่าวด้วยว่า ขอส่งเสียงไปยังนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ หลังจากนี้ การพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ขอให้คำนึงถึงประชาชนให้มากขึ้น คณะกรรมการ EEC ต้องเข้ามาเยียวยาและแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงทีหากเกิดปัญหาขึ้นกับประชาชน รัฐบาลควรทำงานเชิงรุกเพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชนอย่างยั่งยืน