นิวเดลี, 3 ก.ย. (ซินหัว) -- องค์การวิจัยอวกาศแห่งอินเดีย (ISRO) ยืนยันว่าอินเดียประสบความสำเร็จในการปล่อยดาวเทียมภารกิจสำรวจดวงอาทิตย์ครั้งแรก ที่มีชื่อว่า "อาดิตยา แอล 1" (Aditya-L1) เมื่อวันเสาร์ (2 ก.ย.) ที่ผ่านมา ด้วยจรวดขนส่งพีเอสแอลวี-C57 (PSLV-C57) (โครงขนาดเอ็กซ์แอล)
ภารกิจนี้ของอินเดีย ซึ่งมุ่งทำการศึกษาดวงอาทิตย์ ถูกปล่อยตัวออกจาากศูนย์อวกาศ สาทิศ ธาวัน ในเมืองศรีหริโกฎา รัฐอานธรประเทศของอินเดีย
รายงานคาดการณ์ว่าดาวเทียมอาดิตยา แอล 1 จะแยกตัวออกจากจรวดขนส่งภายในเกือบ 63 นาทีหลังจากจรวดถูกปล่อยออกจากแท่นปล่อยที่สองในเมืองศรีหริโกฎา โดยครั้งนี้ถือเป็นภารกิจของจรวดขนส่งพีเอสเอลวีที่มีระยะเวลาทำภารกิจยาวนานที่สุดเท่าเคยมีมา
จิเทนดรา ซิงห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของอินเดีย และเอส. โสมานาถ ประธานองค์การฯ เป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมงานปล่อยตัวภารกิจครั้งนี้ ซึ่งถูกถ่ายทอดสดผ่านทางช่องทีวีในประเทศ รวมถึงแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ขององค์การฯ
ภารกิจสำรวจดวงอาทิตย์นี้จะใช้เวลาเดินทางราว 125 วันเพื่อไปถึงจุดหมาย อันได้แก่ "จุดลากรางจ์ 1" (L1) ซึ่งอยู่ห่างจากโลกราว 1.5 ล้านกิโลเมตร
ค่าใช้จ่ายของภารกิจสำรวจดวงอาทิตย์อยู่ที่ราว 4 พันล้านรูปีอินเดีย (ราว 1.69 พันล้านบาท) โดยประมาณ โดยดาวเทียมฯ จะบรรทุกเครื่องมือ 7 รายการ พร้อมทั้งติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อดึงพลังงานจากดวงอาทิตย์มาให้ดาวเทียมดำเนินงานได้ตามปกติ
องค์การฯ ประกาศก่อนหน้านี้ว่า "อาดิตยา แอล 1" จะเป็นภารกิจสำรวจดวงอาทิตย์ ระดับหอดูดาวในอวกาศแห่งแรกของอินเดีย เพื่อไขปริศนาของดวงอาทิตย์
ทั้งนี้ องค์การฯ เผยว่าเป้าหมายหลักของภารกิจสำรวจดวงอาทิตย์คือการทำความเข้าใจเรื่องความร้อนโคโรนา (Coronal Heating) และความเร่งของลมสุริยะ (Solar Wind Acceleration) รวมถึงริเริ่มการศึกษาเกี่ยวกับการปลดปล่อยมวลของดวงอาทิตย์ (Coronal Mass Ejection) การลุกจ้า (flares) ของดวงอาทิตย์และสภาพอากาศในอวกาศบริเวณใกล้โลก การเชื่อมต่อระหว่างแรงกระทำ (coupling) และพลวัตบนชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์ ตลอดจนการกระจายตัวของลมสุริยะและอุณหภูมิแบบแอนไอโซทรอปี (anisotropy)