แอลกอฮอล์เป็นพิษ
งานปาร์ตี้หรือการเฉลิมฉลองไม่ว่าจะเทศกาลไหน เครื่องดื่มคู่ใจคงหนีไม่พ้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นตัวช่วยทำให้บรรยากาศสนุกมากขึ้น แต่อันตรายที่แฝงตัวอยู่ในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นอกจากจะทำให้เมาไม่มีสติแล้ว อาจเกิดภาวะที่เรียกว่า แอลกอฮอล์เป็นพิษ ซึ่งมีความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
แอลกอฮอล์เป็นพิษ คืออะไร ?
ภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ (alcohol poisoning) คือ การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิดในปริมาณมากและดื่มแบบรวดเร็วในช่วงเวลาสั้น ๆ ทำให้ตับไม่สามารถขับสารนี้ออกจากเลือดได้ทัน ระบบการทำงานของร่างกายรวนจนเกิดภาวะช็อกที่เป็นอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตได้
สาเหตุของภาวะ แอลกอฮอล์เป็นพิษ
การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิดจนมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดมากกว่า 400 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์จะมีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษขึ้นอยู่กับปัจจัย ดังนี้
-การดูดซึมสารในร่างกายของแต่ละบุคคล
-ปริมาณความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในแต่ละชนิดของเครื่องดื่ม
-เพศหญิงจะมีปฏิกิริยาต่อแอลกอฮอล์ได้ไวกว่าผู้ชาย
อาการของภาวะ แอลกอฮอล์เป็นพิษ
-สับสน
-พูดไม่ชัด พูดไม่รู้เรื่อง
-น้ำตาลในเลือดต่ำ
-ไม่สามารถทรงตัวได้
-ง่วงซึม นอนหลับเยอะกว่าปกติ
-อาเจียน
-หายใจผิดปกติ
-เกิดอาการชัก
-การเคลื่อนไหวของดวงตาเร็วกว่าปกติ
-ตัวเย็นจัด
-ผิวหนังซีด กลายเป็นสีม่วง
-หมดสติ ไม่รู้สึกตัว
-เกิดภาวะกึ่งโคม่า ร่างกายไม่สามารถตอบสนองได้
-หัวใจวายเฉียบพลัน
-หยุดหายใจ
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น
-รีบโทรแจ้งหน่วยกู้ชีพ 1669 หรือโทรแจ้งตำรวจ 191 เพื่อขอความช่วยเหลือ
-ปลุกผู้ป่วยให้ตื่นและพยุงให้อยู่ในท่านั่ง
-หากยังดื่มน้ำได้ ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำเปล่า
-หากผู้ป่วยหมดสติ ให้จับนอนตะแคงหรืออยู่ในท่าพักฟื้น คอยดูว่าผู้ป่วยยังหายใจอยู่หรือไม่
-หากพบว่าหยุดหายใจให้ทำการช่วยหายใจ หรือหากพบหัวใจหยุดเต้นให้เริ่มการกู้ชีพ CPR
-ทำให้ร่างกายของผู้ป่วยอบอุ่น
-คอยสังเกตอาการจนกว่ารถพยาบาลจะมา
-อย่าให้ผู้ป่วยหลับ
-ห้ามอาบน้ำให้ผู้ป่วย
ผศ.นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ
สาขาวิชาเภสัชวิทยาและพิษวิทยาคลินิก ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล