ค้นพบ "ระฆังอัครา" กระดังงาดอกสวยชนิดใหม่ของโลก

2023-08-10 13:54:00

ค้นพบ "ระฆังอัครา" กระดังงาดอกสวยชนิดใหม่ของโลก

Advertisement

นักวิจัย มช. กรมอุทยานแห่งชาติฯ  ค้นพบ "ระฆังอัครา"  กระดังงาดอกสวยชนิดใหม่ของโลกจากภาคใต้ ตั้งคำระบุชนิด "majestatis" เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระมารดาแห่งการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา

เมื่อวันที่ 10 ส.ค.66  ผู้สื่อข่าวรายงาานว่า ภายหลังสร้างความฮือฮาในการค้นพบบุหงาลลิษา ล่าสุด ผศ. ดร.ธนวัฒน์ เชาวสกู อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยถึงการค้นพบพบพืชชนิดใหม่ของโลกในวงศ์กระดังงาจาก จ.กระบี่ พังงา และสุราษฎร์ธานี ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Miliusa majestatis Damth., Sinbumr. & Chaowasku โดยคำระบุชนิด "majestatis" เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง "พระมารดาแห่งการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ" ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา และมีชื่อไทยว่า "ระฆังอัครา"


การค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกครั้งนี้อยู่ภายใต้โครงการวิจัย  "อนุกรมวิธานและวิวัฒนาการชาติพันธุ์ของพรรณไม้วงศ์กระดังงา (Annocaceae) ในประเทศไทยที่หายากและยังไม่เป็นที่รู้จัก เพื่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน" ร่วมกับ น.ส.อานิสรา ดำทองดี นักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิชาความหลากหลายทางชีวภาพและชีววิทยาชาติพันธุ์ นายอรุณ สินบำรุง นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ สังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และนักวิจัยอีกหลายท่าน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยตีพิมพ์ผลงานในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ Annales Botanici Fennici เมื่อวันที่ 7 ส.ค.66 ที่ผ่านมา

ผศ.ดร.ธนวัฒน์ เผยว่า ระฆังอัครามีลักษณะเด่น คือ เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูงได้ถึง 5 เมตร ดอกมีรูปร่างคล้ายระฆัง กลีบดอกชั้นในคอดรัดและมีช่องเปิดขนาดเล็ก ซึ่งอยู่ระหว่างโคนกลีบดอกชั้นในที่ติดกัน กลีบดอกชั้นในที่อยู่ส่วนล่างของการคอดรัดมีสีเหลืองอมเขียว ส่วนกลีบดอกชั้นในที่อยู่ส่วนบนส่วนมากมีสีแดงม่วงเข้มอมน้ำตาล โคนกลีบมีเนื้อเยื่อโปร่งแสง ทำให้แสงส่องผ่านได้ เวลาออกดอกจะออกพร้อมกันทำให้ดูสวยงามเป็นอย่างมาก


ทั้งนี้ ระฆังอัคราขึ้นอยู่ริมสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมันนอกเขตอนุรักษ์ ทำให้สุ่มเสี่ยงที่จะถูกแผ้วถางในอนาคต จึงจำเป็นที่ทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกันวางแผนการอนุรักษ์พืชชนิดนี้มิให้สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยและจากโลก นอกจากนี้จะต้องศึกษาสารทุติยภูมิและฤทธิ์ทางชีวภาพจากต้นระฆังอัครา เพื่อการใช้ประโยชน์ทางเภสัชศาสตร์ โดยจากรายงานการศึกษาก่อนหน้าพบว่าพืชชนิดอื่น ๆ ในสกุลเดียวกันเป็นพืชสมุนไพรที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพที่น่าสนใจ โดยเฉพาะฤทธิ์ต้านมะเร็ง อีกทั้งยังสามารถพัฒนาเป็นไม้ดอกไม้ประดับได้เป็นอย่างดี เนื่องจากปลูกเลี้ยงค่อนข้างง่ายและมีดอกสวยงาม